“ดร.อานนท์” งงผลสำรวจ (โพล) นโยบายแจกเงิน หรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมือง ช่วงเลือกตั้ง คนไทยไร้ความรับผิดชอบมาก ส่วนใหญ่ ตอบ ไม่เคยคิดต้องใช้เงินมากแค่ไหน ส่วนเอามาจากไหน ก็ตอบว่า ก็เก็บภาษีเพิ่มขึ้น
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 เม.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์ภาพกราฟิก ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง พร้อมข้อความระบุว่า
“เรื่องแจกเงินของพรรคการเมืองนี้
คนไทยไร้ความรับผิดชอบมาก
ถามว่า เคยคิดไหมว่าต้องใช้เท่าไหร่ ตอบว่าไม่เคยคิดเป็นส่วนใหญ่
ถามว่าจะหาเงินมาจากไหน ส่วนใหญ่ตอบว่าก็เก็บภาษีเพิ่มขึ้น
ถามว่า ใครต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย ตอบว่า พรรคการเมืองกับนักการเมือง ต้องรับผิดชอบ มีส่วนน้อยกว่าที่ตอบว่าประชาชนที่ไปเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ
นโยบายหาเสียงแบบประชานิยมไร้ความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่น่าห่วงมากครับ”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายการเมืองสะอาด-Network For Clean Politics โพสต์ภาพกราฟิก พร้อมเปิดเผยผลสำรวจ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับเครือข่ายการเมืองสะอาด ระบุว่า
“ผลสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “นโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2566
จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนต่อวงเงินที่จะต้องใช้เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 66.72 ระบุว่า ไม่ทราบ และ/หรือ ไม่เคยทดลองคำนวณ รองลงมา ร้อยละ 14.81 ระบุว่า ทราบ และ/หรือ เคยคำนวณรายละเอียดไว้ ร้อยละ 11.75 ระบุว่า ไม่ทราบและไม่สนใจว่าต้องใช้วงเงินเท่าไหร่สำหรับแต่ละนโยบายแต่ละพรรค และร้อยละ 6.72 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะต้องคำนวณเงินและแจ้งให้ประชาชนทราบ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของเงินในการจัดทำตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.62 ระบุว่า จัดเก็บภาษีประชาชน/บริษัท/ห้างร้านต่างๆ เพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 27.86 ระบุว่า ตัดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ร้อยละ 25.73 ระบุว่า กู้เงินจากต่างประเทศ ร้อยละ 21.15 ระบุว่า ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศของไทย ร้อยละ 18.55 ระบุว่า กวาดล้างการทุจริตเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 14.27 ระบุว่า กู้เงินจากในประเทศ และร้อยละ 3.82 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย หากการดำเนินตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมืองก่อให้เกิดปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.35 ระบุว่า พรรคการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ รองลงมา ร้อยละ 41.68 ระบุว่า นักการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในคราวนี้ ร้อยละ 14.43 ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่หาทางป้องกัน ร้อยละ 9.62 ระบุว่า ข้าราชการประจำที่ทำงานรับใช้พรรคการเมืองในการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 6.34 ระบุว่า นักวิชาการที่ไม่ออกมาตักเตือนให้สติสังคม ร้อยละ 6.26 ระบุว่า เชื่อว่า ปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะจะไม่เกิดขึ้น และร้อยละ 1.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ