แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.ร่วมกับ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และกทม. โดยมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเชิงปฎิบัติการ “การอ่านเพื่อการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ลดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัย” โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน เสริมพลังสมรรถนะด้านภาษาและการเรียนรู้ในวิกฤต Learning Loss แก่แกนนำครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 715 คน จาก193 ศพด.
นางสาวอาร์ตี้ เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญในศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ที่นี่ ทางยูนิเซฟเองได้ตระหนักและเห็นรูปธรรมความสำเร็จได้ชัดเจนจากโครงการที่ได้ดำเนินงานเมื่อ 2 ปีทีแล้วกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 155 ศูนย์ และคุณครู 114 คน นำร่อง และมีแบบทดสอบ ประเมินผลทางวิชาการในประเด็นสำคัญ 5 ประการ คือ 1. เด็กมีทักษะการอ่านและความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมากขึ้น 2.เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะคลังคำศัพท์มากขึ้น 3. เด็กสามารถแสดงให้เห็นถึงทักษะการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับการเข้ากับทักษะทางสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น 4. ผู้ปกครองได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กจากการอ่าน และยินดีที่จะใช้เวลาในการอ่านร่วมกับลูกมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้มือถือ และลดการดูทีวี มาเน้นการอ่าน และ 5. ครู มีความมั่นใจในการใช้กิจกรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กมากยิ่งขึ้น
“สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นทำให้คณะทำงาน ยูนิเซฟ และภาคีเครือข่ายมีแรงบันดาลใจที่จะขยายงาน และกิจกรรมการอ่านแก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเครือข่ายอปท. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ และขยายให้กับทุกศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม.วันนี้ พวกเรามีความตระหนักว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเรียนรู้ของเด็กมีความสำคัญมาก ต้องมีการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการที่ถดถอย โดยเฉพาะสองปีที่ผ่านมา ต้องประสบกับความท้าทายที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว ในขณะที่ศูนย์เด็กเล็กได้ปิดลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาฟื้นฟูการอ่านเพื่อพัฒนาการเด็ก และช่วยเด็กให้มีความรู้จากการอ่าน ซึ่งคุณภาพของการพัฒนาสมรรถนะเด็ก อยู่ที่ศักยภาพและทักษะของคุณครูและผู้ดูแลเด็ก ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ” นางสาว อาร์ตี้ ระบุ
ขณะที่ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้เน้นความสำคัญว่า งานวิจัยเรื่องผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านจอในเด็กปฐมวัย ระบุว่า การเสพสื่อผ่านจอมีผลกระทบต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก สอดคล้องกับผลสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอายุ 0 ถึง 5 ปี โดยกรมอนามัยพบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้า 32.5 % โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีพัฒนาการสมวัยอยู่ที่ 50-60 % เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ดูสื่อไอทีมากกว่า 80 % ส่งผลให้มีปัญหา เรื่องพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา ขณะที่มีพ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง อย่างมีคุณภาพเพียง 20 % ซึ่งปัญหานี้สำคัญระดับโลก ล่าสุด WHO จัดทำคู่มือแนะนำการใช้เวลาหน้าจอของเด็ก และชี้ชัดว่า ช่วงขวบปีแรกจนถึง 2 ขวบ เด็กๆไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเลย ส่วน 3-4 ขวบไม่เกินใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลใกล้ชิด
“เมื่อก่อนเรามองว่าการวางรากฐานของการศึกษาเหมือนเป็นอิฐก้อนแรก แต่ถ้ามาใช้กับเด็กปฐมวัย เราคิดว่ามันต้องใช้การลงเสาเข็มและมีคานคอดินเลย เพื่อให้ฐานรากแข็งแรงและมั่นคง ไม่ล้มง่าย ไม่เปราะบาง เป็นฐานสำคัญสู่ช่วงวัยอื่นๆ ซึ่งทฤษฎีหน้าต่างแห่งโอกาส ระบุว่า สมองของเด็กวัยนี้ เปิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดกว่า 85 %ของชีวิตมนุษย์ หากคุณครูเชื่อมโยงความรู้ ไปสู่ครอบครัวในชุมชนได้ด้วยจะช่วยแก้ไขวิกฤต ที่เป็นบาดแผลร้าวลึกในครั้งนี้ได้ ซึ่งกิจกรรมที่ง่ายที่สุดและทรงประสิทธิภาพมากที่สุดคือ กิจกรรมการอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง แล้วทำกิจกรรมต่อเนื่องจากการอ่าน เราก็จะสามารถปลดล็อกพัฒนาการล่าช้าที่สั่งสมมานานได้” นางสุดใจ กล่าว
นางสุดใจ ระบุด้วยว่า การอบรมครูแกนนำในครั้งนี้ ไม่เป็นเพียงแค่การอ่านเพื่อนำไปสู่การอ่านออกเขียนได้อีกต่อไป แต่คือ การใช้การอ่าน เพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทักษะสมองส่วนหน้าด้วย ซึ่งเราต้องการเครือข่ายขนาดใหญ่ กางเส้นใยให้กับ 50 เขตของ กทม. ผลักดันให้เมืองใหญ่เคลื่อนเรื่องปฐมวัย เพื่อเชิญชวนเมืองอื่นๆ ร่วมเรียนรู้ ขับเคลื่อนพัฒนาไปด้วยกัน
ด้าน นางสาว ระพีพรรณ พัฒนาเวช กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวหนุนเสริมว่า กระบวนการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ประกอบด้วย คนอ่าน หนังสือ และคนฟัง ในส่วนคนอ่าน ทำหน้าที่อ่านอย่างมีจังหวะจะโคน เพื่อให้คนฟัง ได้ฟังอย่างต่อเนื่อง ดูภาพ สนุก ติดตามเรื่องราว เชื่อมโยงกับประสบการณ์ คาดเดา จดจ่อ คิดยืดหยุ่น จดจำ ประเมินคุณค่า รับประสบการณ์ เดาคำศัพท์ ตลอดจนได้เห็นตัวอย่างการอ่าน สรุป ค้นหา ฝึกการกวาดสายตา รู้จักสิ่งพิมพ์
“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นสารพัดในหัวสมองของเด็ก ถ้าครูอ่านอย่างเดียว เราจะไม่พยายามเล่าเรื่องให้เด็กฟัง เพราะถ้าคุณครูเล่าเรื่อง อธิบายแทรกหมดจด หมดสิ้น เพราะกลัวเด็กจะไม่เข้าใจ จะไม่เหลือพื้นที่ว่างใดๆให้เด็กได้ใช้สมองคิด การที่เด็กได้ใช้สมองคิด คือการฝึกปรือความคิด ฝึกปรือการสร้างปัญญาด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ความรู้ที่คุณครูป้อนให้ ซึ่งมันจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นในหัว ในตัว ในใจของเด็ก ซึ่งเราต้องการให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบนี้” นางสาวระพีพรรณ เน้นย้ำ
นางสาว ระพีพรรณ กล่าวต่อว่า การที่เด็กพูดน้อย ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ได้ ไม่สำคัญเท่ากับเด็กไม่มีภาษามากพอที่จะคิด ซึ่งภาษาจะมาช่วยในการคิด เมื่อเด็กบอกไม่ได้ เพราะมีภาษาจำกัด สิ่งที่จะตามมาคือ ความก้าวร้าว ไม่อยู่นิ่ง เพราะอึดอัดคับข้องใจ ซึ่งกระบวนการที่สำคัญมากในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง คือ ทำให้เกิดความคิด เกิดความเชื่อมโยง และเกิดความรู้เป็นของตนเอง ความเข้าใจเป็นของตนเอง ปัญญาเป็นของตนเอง หนังสือจะทำงานกับเด็ก เมื่อเด็กๆคาดเดาได้เรื่อยๆ เขาจะเอาหนังสืออย่างอยู่หมัด เมื่อเขารู้สึกว่า เขาควบคุมหนังสือได้ เดาเหตุการณ์ข้างหน้าได้เรื่อยๆหนังสือเล่มไหนเขาก็ไม่กลัว เพราะเขาเอาอยู่ทุกๆเล่ม ไม่ว่าในระดับชั้นไหน และเด็กที่อ่านหนังสือได้อย่างเข้าใจ มีแนวโน้มฉลาดกว่าเด็กไม่อ่านหนังสืออยู่แล้ว
นางสาวระพีพรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการของเรา คือ ครูต้อง อ่านให้เด็กฟังทุกวัน วันละหลายเล่ม หลายรอบ เพื่อให้ได้ปริมาณความถี่ ความสม่ำเสมอ ทำทุกวันต่อเนื่อง สะสมไป ถ้าเราอยากให้ได้ผลดี เพื่อให้เด็กเข้าใจคำศัพท์ได้มากเพียงพอ จนเขาสามารถเข้าใจเรื่องราวใหม่ๆได้ง่าย และมีความสามารถในการตีความ เด็กจะเข้าใจ เมื่อครูพูด เพราะผ่านกระบวนการจดจ่อ ติดตาม เชื่อมโยง ตีความมาตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ซึ่งการอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างมีเป้าหมาย เป็นไปเพื่อลดปัญหา การเรียนรู้ถดถอย เป็นการพัฒนาทักษะทางภาษาให้กับเด็ก ซึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องมีทุกวันในชั้นเรียน เหมือนดื่มนม แปรงฟัน ไม่ใช่กิจกรรมชั่วคราว แต่ทำตลอดไปตลอดอาชีพ
ด้าน ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ประมวลภาพรวมของโครงการ ว่า ยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเริ่มทำกิจกรรมอ่านหนังสือให้เด็กฟัง กับครูต้นแบบของ กทม. ซึ่งได้เห็นพัฒนาการที่ชัดเจน หลังจากนั้นเราจึงขยายผลการดำเนินกิจกรรม ของศูนย์เด็กเล็กกว่า 200 ศูนย์ โดยกิจกรรมจะใช้ระยะเวลา ตั้งแต่เดือน เมษายน – กรกฎาคม ซึ่งเมื่อเราใช้กระบวนการ เทคนิคการคัดเลือกสื่อที่มีประสิทธิภาพ ให้กับคุณครูได้นำไปใช้กับเด็ก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง นอกจากนี้จะมีกระบวนการถอดบทเรียน แบ่งปันประสบการณ์ ในเดือนสิงหาคมนี้ และจะได้มีการสื่อสารเผยแพร่ประสบการณ์กันเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เสริมกำลังซึ่งกันและกัน เพื่อทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือเด็กไทยด้วยกัน
ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจกิจกรรมสามารถติดตามความเคลื่อนไหวทางเพจอ่านยกำลังสุข รวมถึงสามารถดาวโหลดสื่อต่างๆเพื่อพัฒนาเด็ก ทาง www.happyreading.in.th