เจาะลึกวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง และข้อห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามกฎหมายการหาเสียง ระเบียบผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ทำอะไรได้บ้าง ข้าราชการช่วยหาเสียงได้ไหม
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เน้นย้ำเกี่ยวกับ 10 ข้อห้าม ไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด
2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด
3. ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
6. การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทาง ที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
7. ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือ นำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้อง เสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ
8. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือ ลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
9.ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือ กระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติ โดยสุจริตของผู้นั้น
10. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561
กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนี้
1. แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ต่าง ๆ หรือ งานพิธีการต่าง ๆ โดยเอกสารหรือวีดิทัศน์ดังกล่าว สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของ พรรคการเมือง คติพจน์ ค าขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง (พร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้า ของเอกสารหรือวีดิทัศน์ด้วย)
2. ใช้พาหนะต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวที เพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ (ผู้สมัครและพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายในสิบวันหลังจากปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง)
3. ใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง
4. ปิดประกาศการโฆษณา หรือ ติดแผ่นป้ายการโฆษณา ที่ยานพาหนะในการหาเสียงเลือกตั้ง สถานที่หรือเวที เพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง (พร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของประกาศ การโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาด้วย) และการปิดประกาศการโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายการโฆษณาที่ยานพาหนะที่ใช้ในการรับจ้างทั่วไป สถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ให้ถือเป็นการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง และนับรวมค่าใช้จ่าย ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย
5. หาเสียงเลือกตั้งผ่านจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
6. หาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
7. จัดทำเอกสารที่มีการกากบาทในช่องลงคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเอง เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้แก่ตนเองได้ แต่การจัดทำเอกสารดังกล่าวต้องไม่มีขนาดลักษณะหรือสีที่คล้ายกับบัตรเลือกตั้ง
8. จัดให้มีผู้ช่วยหาเสียง เพื่อช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ในกรณีการจัดทำเอกสาร วีดิทัศน์ ประกาศการโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ตามข้อ 1. หรือ ข้อ 4. นอกจากภาพของผู้สมัครแล้ว สามารถนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองลงโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้เท่านั้น
กรณีการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัด แจ้งผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้แก้ไขภายในห้าวัน นับแต่วันที่มีการแจ้ง หากไม่ดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออกหรือสั่งให้หน่วยงานอื่น ดำเนินการ โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น และคณะกรรมการอาจนำมาเป็นเหตุ ในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและ การวินิจฉัยชี้ขาดได้
การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบหรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคล ดำเนินการแทนได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
1. เว็บไซต์
2. โซเซียลมีเดีย
3. ยูทูป
4. แอปพลิเคชัน
5. อีเมล์
6. เอสเอ็มเอส
7. สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท
โดยให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง (พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้ อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าด้วย)
การแจ้งวิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการส านักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตั้งแต่วันสมัคร รับเลือกตั้งเป็นต้นไปหรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ในกรณีพรรคการเมืองจะดำเนินการการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เลขาธิการทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไป หรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ผู้ช่วยหาเสียง
ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้ง หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดหา เสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง
ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองดำเนินการแจ้ง ไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตเลือกตั้งจำนวนไม่เกินยี่สิบคน ต่อเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกินสิบเท่าของจำนวน เขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
1. ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับ การหาเสียงเลือกตั้ง
2. ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.ผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง โดยมิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้ง ให้แก่ตนเอง โดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง
2.แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
3.หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
4.ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่างๆ
สามารถ Add Friends (เพิ่มเพื่อน) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand https://lin.ee/jETxaeu
(บทความประชาสัมพันธ์)