xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.สอบ “พิธา” ให้สัมภาษณ์บิดเบือนข้อมูลมางานศพพ่อ ช่วงรัฐประหาร 49 เข้าข่ายหลอกลวงจูงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.สอบ “พิธา” ให้สัมภาษณ์บิดเบือนข้อมูลมางานศพพ่อช่วงรัฐประหาร 49 เข้าข่ายหลอกลวงจูงใจหรือไม่ ชี้ ผิดโทษหนัก ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

วันนี้ (28 เม.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์ ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ดำเนินการไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 กรณีเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อมางานศพพ่อในช่วงของการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ได้นำหลักฐานเป็นคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนายสรยุทธ และคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนางสุริวิภา กุลตังวัฒนา หรือ หนูแหม่ม เมื่อปี 2552 มาเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันหลายประเด็น 1. อ้างว่าตัวเองเป็นข้าราชการ อยู่ในคณะทำงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกัน ให้สัมภาษณ์กับ นางสุริวิภา กลับระบุว่า เป็นนักศึกษาอยู่ในกรุงบอสตัน 2. เคยถูกควบคุมตัวที่ดอนเมือง ไม่สามารถกลับไปทันงานศพของพ่อได้ แต่ให้สัมภาษณ์กับนางสุริวิภา ได้พูดว่าอยู่ที่ดอนเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแค่ 4-5 ชม.และกลับไปร่วมงานศพของพ่อทัน 3.ในช่วงนั้นถูกระงับบัญชี 2-3 เดือน จนไม่สามารถหาเงินมาทำบุญศพพ่อได้ แต่ในรายการของนางสุริวิภา ไม่ได้พูดถึง

ซึ่งเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตผู้แทนการค้าไทยสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีการควบคุมตัว เพียงแต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามปกติ และปล่อยกลับบ้านทุกคน จึงมีข้อสังเกตว่า การให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ของนายพิธา ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายพิธา พยายามแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ สร้างความสงสาร และใส่ร้ายไปทางฝ่ายความมั่นคง หรือทหาร ว่า ตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ เพื่อทำให้เกิดคะแนนนิยมของพรรคตนเองหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อห้ามอย่างชัดเจนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(5) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงโดยวิธีการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจในคะแนนนิยมของตนเอง หรือพรรคการเมืองที่ผิดไป

“เรืองนี้ นายพิธา ได้กระทำเอง และพรรคก้าวไกลได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทหาร โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ
ดังนั้น คำพูดของนายพิธา ต้องการสื่อให้เห็นว่า ตนเองออกมาต่อต้านกองทัพอย่างชัดเจน จึงหยิบยกประเด็นการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในช่วงที่มางานศพของพ่อขึ้นมาพูด ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องการให้กกต.ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย ว่าเข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากผิดจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถูกตัดสิทธิทางการเมืองอย่างน้อย 20 ปี”






กำลังโหลดความคิดเห็น