xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละนโยบาย “รทสช.” นักวิชาการ ชี้ เหมือนไม่มีอะไรคือ “มี” สะท้อน “คิดดี-ทำเป็น” ไม่ “คิดชั่ว-มั่วเอา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่ยังไม่ชัดว่าเป็นเงินอะไรแน่? แต่หาเสียงกันอย่างครึกโครม จากแฟ้ม
นักวิชาการ ชี้เปรี้ยง “รทสช.” ขาย “ลุงตู่” ไม่มีนโยบายสำคัญใช้เงินจำนวนมาก เพื่อหวังพลิกประเทศ/พลิกฟ้าคว่ำดินเหมือนพรรคอื่นๆ แต่การ “ไม่มี” นี้แหละคือ “มี”! บทสรุปสะท้อนชัด “คิดดี-ทำเป็น” กับ “คิดชั่ว-มั่วเอา”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (27เม.ย. 66) ศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “บทวิจารณ์นโยบายหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ “ราคาที่ต้องจ่ายให้พรรครวมไทยสร้างชาติ : ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย ดังนี้

“ถ้าดูจากนโยบายที่มีเพียง 11 นโยบายที่แจ้งกับ กกต. เสมือนหนึ่งว่า พรรคนี้มุ่งขายเฉพาะ “ลุงตู่” เพราะไม่มีนโยบายสำคัญใช้เงินจำนวนมาก เพื่อหวังพลิกประเทศ/เศรษฐกิจแบบพลิกฟ้าคว่ำดินเหมือนเช่นพรรคอื่นๆ แต่การ “ไม่มี” นี้แหละคือ “มี”!!

เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้นำเสนอนโยบายอะไรที่จะทำความเสียหายให้ชาติบ้านเมืองเหมือนการแจกเงินซื้อเสียงโดยถ้วนหน้าแบบพรรค “เพื่อไทย” และการมุ่งบ่อนทำลายฐานรากของสถาบันและสังคมแบบพรรค “ก้าวไกล”

หากแต่พรรครวมไทยสร้างชาติ อาศัยสโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เป็นตัวบ่งบอกตัวตนและเจตจำนงปณิธานของพรรค

ในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดอย่างรุนแรงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าโชคดีมากที่ไม่ได้นักการเมืองแบบที่กำลังหาเสียงอยู่ มาบริหารบ้านเมือง

หาไม่แล้ว ประเทศไทยในปัจจุบันคงลำบากมากกว่านี้อย่างแน่นอน เพราะขนาดแค่บริหารในสภาพปกติยังทำน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้อย่างเหลือเชื่อ

นโยบายคนละครึ่ง เราเที่ยวฯ ผ่านแอป “เป๋าตังค์” บนโทรศัพท์มือถือ ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจและประเทศไทย ไม่ “อดตาย” จากการที่ต้องปิดเมือง จำกัดการเดินทาง จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญ น่าจะได้โนเบลด้านนวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นการผสมผสานแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กับนวัตกรรมที่มีอยู่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพของนโยบายการคลังอย่างไม่เคยมีมาก่อน คนที่เป็นต้นคิดขอได้รับความขอบคุณอย่างสูงจากเราด้วย

นโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ จึงเกิดขึ้นตรงไปที่ผู้ที่ต้องการโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง มีผลในทันทีและเป็น copayment ที่ทำให้ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า เพราะมีเงินตัวเองร่วมอยู่ด้วย

ไม่ได้ให้เปล่าที่จะใช้อย่างทิ้งขว้าง การกำหนดระยะเวลาและจำนวนเงินที่จะใช้ได้ทำให้สามารถควบคุมเงินให้ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ถ้าจะใช้นโยบายการคลังอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 หมื่นล้านบาท รัฐบาลก็ใช้เพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น แถมยังกำหนดช่วงเวลาและจำนวนในการใช้ได้อีกด้วย

ภาพ ศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากแฟ้ม
เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทถ้วนหน้า ที่ใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทแล้ว มันคนละเรื่องเลยก็ว่าได้ แถมที่คุยโวว่าจะแจกให้เป็น “เงิน” หรือไม่ก็ยังไม่แจ้งชัด หากไม่เป็นเงินมันก็เป็นเศรษฐกิจ “กงเต๊ก” ที่ต้องไปใช้ในนรก เพราะเงินกงเต๊กมันออกโดย Hell Bank ถ้าจะมาใช้ในโลกมนุษย์ มันจะมีค่า “หัวคิว” จากนักการเมือง (ที่มาจากนรกหรือไม่?) เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการแลกเงิน “กงเต๊ก” นี้

ถ้าจะอ้างแบบ “โง่ๆ” ว่า เงินกงเต๊กนี้จะเป็น “เงินเลว” ที่คนรับจะรีบใช้ออกไป กิจกรรมเศรษฐกิจจะไม่หมุนหลายรอบอย่างที่อ้างดอก “แป๊ก” ตั้งแต่รอบแรกแล้ว เพราะไม่มีใครอยากรับ “เงินเลว” จะรับไปทำไม แม้เอามาจ่ายเป็นภาษี รัฐจะรับชำระหรือไม่?

เห็นหรือยังว่าระหว่าง “คิดดี-ทำเป็น” กับ “คิดชั่ว-มั่วเอา” นั้น มันให้ผลที่แตกต่างกัน

ส่วนนโยบายโอนเงิน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เพิ่มเงินสมทบภาครัฐกับแรงงานในระบบประกันสังคมนั้น พอฟังได้ เพราะใช้เงินไม่มาก แต่ควรมี exit policy เป็นเงื่อนไขกำกับว่า จะเลิกเมื่อใด ยังเป็นนโยบายแจกถ้วนหน้าเหมือนกันเพราะไม่ตรงจุด เช่น ตัวเลขผู้ได้บัตรฯมันมากกว่าตัวเลข “คนจน” ที่มีอยู่และเป็นคนคนเดียวหรือไม่ก็ไม่รู้แน่ หรือ ถ้าจะให้เบี้ยฯคนอายุ 60 ปีนี้ คนอายุ 60 ปีหน้าต้องให้ลูกหลานมันมาช่วยจ่าย เพราะเงินที่มาทำนโยบายมันไม่ใช่เงินลุงตู่หรือของพรรคใดและประเทศไทยก็ยังจนไม่มีทรัพยากรให้ใช้แบบฟุ่มเฟือย

นโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงเล่นเป็น เพราะรู้ว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ มันเลยจุดที่ต้องการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (แบบที่หลายพรรคกำลังทำอยู่ในขณะนี้) ไปแล้ว

หากแต่ต้องการเสถียรภาพเพื่อรักษาเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อ เพื่อให้มันเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมากกว่านโยบายที่พรรครวมไทยสร้างชาติยังขาดอยู่หรือยังไม่สมบูรณ์ก็เหมือนกับทุกพรรคที่เหลือคือ นโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การศึกษา นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยเพิ่มโอกาสในการหารายได้มากกว่าการแจกเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ผิดฝาผิดตัว รวมถึงการออมภาคบังคับไว้รองรับเศรษฐกิจคนแก่ในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น