xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชำแหละหัวใจ “ลุงตู่” อยู่ที่นายทุน ไม่ยอมเบรกซื้อไฟเอกชนแพง เผย นโยบาย พปชร.ผุด 1 อบต. 1 โซลาร์ฟาร์ม งดซื้อไฟเอกชนเชื้อเพลิงก๊าซ ลดภาระ กฟผ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้ หัวใจ “ลุงตู่” อยู่ที่นายทุน เมินส่งเสริมโซลาร์รูฟจริงจัง ขั้นตอนขอยุ่งยาก รับซื้อไฟคืนในราคาถูก แต่กลับส่งเสริมนายทุนทำโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ขายไฟให้รัฐบาลเป็นล่ำเป็นสัน แตกต่างจากนโยบาย พปชร.ที่จะให้มี 1 อบต./เทศบาล 1 โซลาร์ฟาร์ม ขายไฟให้รัฐเท่าราคาที่ซื้อจากรัฐ เผย กฟผ.ขาดทุนอ่วม เพราะซื้อไฟจากเอกชนราคาแพง แต่ขายให้ครัวเรือนหน่วยละ 4.72 บาท จนแบกหนี้มหาศาล เข้าทางบางพรรคที่อยากให้แปรรูป กฟผ. ถาม “บิ๊กตู่-สุพัฒนพงษ์” ทำไมไม่เบรกซื้อไฟเอกชน เผย นโยบาย พปชร.ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะยุติซื้อไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ลดภาระ กฟผ.ให้ประชาชนจ่ายค่าไฟถูกลง

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เวลา 20.46 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้า ในหัวข้อ ลุงตู่อยู่ที่นายทุน? โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูป 1 ข่าวระบุว่า “ฟันธง! หุ้นโรงไฟฟ้าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ลุ้นกำไรปี 66 แตะ 5.3 หมื่นล้านบาท ระยะยาวมี Upside จากการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนกว่า 8,000 เมกะวัตต์


รูป 2 ปรากฏผลการประมูลบางส่วน

บริษัทที่ได้อันดับหนึ่ง ได้ไป 2,500 เมกะวัตต์
อันดับสองถึงห้า ได้ไปเพียง 832, 339, 170 และ 80 ตามลำดับ


ผมตั้งข้อสังเกต 2 เรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง ค่า “ความพร้อมจ่าย”

มีทีมลุงตู่มาโฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า “ความพร้อมจ่าย” ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์

ค่า “ความพร้อมจ่าย” นี้ รัฐบาลเริ่มต้นใช้หลักการนี้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100%

ค่า “ความพร้อมจ่าย” คือ ให้หลักประกันแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการกู้เงินมาเพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า

เมื่อลงทุนไปแล้ว ถ้าหากสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกิดลดลง ถึงแม้รัฐไม่สามารถซื้อไฟฟ้าได้ รัฐก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงไฟฟ้าทุกเดือน

ค่า “ความพร้อมจ่าย” จึงเป็นหลักการที่ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถกู้เงินเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าได้สะดวก

และเป็นเรื่องที่เหมาะสมใช้แก่รัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100%

แต่ในการเปิดให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขายให้แก่รัฐนั้น อันที่จริง ไม่ควรจะใช้หลักการค่า “ความพร้อมจ่าย” ให้แก่บริษัทเอกชน

การใช้หลักการค่า “ความพร้อมจ่าย” ให้แก่บริษัทเอกชนซึ่งดำเนินการตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการให้หลักประกันรายได้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนโดยไม่จำเป็น

เมื่อรัฐบาลให้หลักประกันลดความเสี่ยงแก่เอกชนด้วยค่า “ความพร้อมจ่าย” เอกชนจึงพยายามแข่งขันกันเพื่อให้ชนะประมูล

จนมีข่าวว่าจ่ายใต้โต๊ะกันมหาศาล จริงหรือไม่?

เพราะเมื่อชนะประมูลด้วยมีค่า “ความพร้อมจ่าย” ก็จะสามารถเร่งสร้างโรงไฟฟ้า และเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์

ได้กำไรสองต่อ!!!

ในด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เมื่อเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ ถ้ารัฐไม่ซื้อก็จะต้องจ่ายค่า “ความพร้อมจ่าย” ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก่อน

เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ต้องลดปริมาณการผลิตของตนเองลง

นี่เอง ที่ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100% มีแต่ลดลงๆ ทุกวัน

ส่วนการที่ทีมลุงตู่โฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า “ความพร้อมจ่าย” ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์นั้น ก็เป็นการพูดเอาความดีใส่ตัว

เพราะในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำเป็นต้องรับซื้อทันทีที่ยังมีแสงแดดและพลังลม

จึงไม่มีหลักการค่า “ความพร้อมจ่าย” ไม่เหมือนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

สรุปแล้ว คำโฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า “ความพร้อมจ่าย” ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์นั้น เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

เรื่องที่สอง ใจลุงตู่ไม่ได้อยู่กับประชาชน?

การที่ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์รูฟท็อปนั้น ประชาชนจะสามารถผลิตไฟฟ้าแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์ได้เป็นครั้งแรก

ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์รูฟท็อป ลงทุนไม่กี่แสนบาท ก็สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่ลงทุนหลายพันล้านบาท

จึงเป็นครั้งแรก ที่ประชาชนมีอำนาจที่จะสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ผลิตไฟฟ้าแข่งขันกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่

แต่ลุงตู่ไม่ได้อ้าแขนรับให้ประชาชนมีรายได้ตรงนี้

การติดตั้งจะต้องยื่นขออนุญาตยุ่งยากจาก 3 หน่วยงาน

ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ ในเวลากลางวันที่โซลาร์เซลล์ทำงานนั้น ครัวเรือนส่วนใหญ่ไปทำงานนอกบ้าน

ปริมาณไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตในช่วงเวลากลางวัน จึงเกินกว่าที่ประชาชนจะใช้ในช่วงเวลากลางวัน

อันที่จริง ถ้าหากประชาชนจะเก็บไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าการใช้ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนนั้น ก็ทำได้

แต่จะต้องลงทุนแบตเตอรี่เก็บไฟซึ่งมีต้นทุนสูงมาก

ดังนั้น ถ้ารัฐจะส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์รูฟท็อปอย่างจริงจัง รัฐก็จะต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเกินในช่วงเวลากลางวัน

ตรงนี้เอง ลุงตู่กำหนดปริมาณวงเงินที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์รูฟท็อป เอาไว้ต่ำมาก

และรับซื้อในราคาที่ต่ำเพียงประมาณหน่วยละ 2.20 บาท ทั้งที่ประชาชนต้องซื้อไฟฟ้าจากรัฐในราคาหน่วยละ 4.70 บาท

นโยบายลุงตู่ จึงไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้จากโซลาร์เซลล์รูฟท็อปอย่างแท้จริง

แต่ปรากฏว่า ใจลุงตู่ น่าจะไปอยู่ที่นายทุน?

เพราะมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เข้ามาประมูลทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อขายไฟให้แก่รัฐอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ทั้งหมดนี้ ลุงตู่และลุงสุพัฒนพงษ์มีหน้าที่จะต้องอธิบายให้ประชาชนว่า

ทำไมจึงเน้นให้ประโยชน์แก่นายทุนยักษ์ใหญ่?

ทำไมไม่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนรายย่อยแทน?

แนวคิดของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐนั้นแตกต่างครับ

เราต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโซลาร์เซลล์รูฟท็อป และโครงการ หนึ่ง อบต./เทศบาล หนึ่งโซลาร์ฟาร์ม

โดยจะใช้หลักการหักกลบลบหน่วย net metering

ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะขายไฟฟ้าให้แก่รัฐ ได้ในราคาเท่ากับที่ซื้อไฟฟ้าจากรัฐ

ถ้าซื้อไฟฟ้าจากรัฐหน่วยละ 4.70 บาท ก็จะขายไฟฟ้าให้รัฐได้หน่วยละ 4.70 บาทเท่ากัน

ด้วยวิธีนี้ สำหรับบ้านที่ใช้ไฟกลางคืนไม่มากนัก ค่าไฟในบางวันอาจจะลดลงเหลือเพียง 0 บาท

นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญ

ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางครับ

ต่อมา นายธีระชัยได้โพสตฺข้อความเพิ่มเติมในหัวข้อ ลุงตู่สู้ซื้อไฟแพง-เพราะเหตุใด? มีรายละเอียดระบุว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า ในห้วงเวลาของรัฐบาลลุงตู่นั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีขาดทุนเพิ่มขึ้นมหาศาล เพิ่มขึ้นอย่างเงียบเชียบ

ขาดทุนจนมีหนี้ท่วมหัว ตัวเลขล่าสุดจะถึงระดับ 150,000 ล้านบาท

ถามว่า ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในสมัยรัฐบาลลุงตู่จึงมีหนี้ท่วมหัวเช่นนี้?

คำตอบแสดงอยู่ในรูป 1 ของหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์


ผู้ที่ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ราคาแพงสุดห้าอันดับแรก ล้วนมีชื่ออักษรเริ่มต้น G

ราคาแพงสุดหน่วยละ 9.8500 บาท รองลงมาหน่วยละ 9.7201 บาท, 7.0300 บาท, 6.6604 บาท และ 6.1080 บาท ตามลำดับ

ผู้อ่านคงทราบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตคิดค่าไฟฟ้าจากครัวเรือนหน่วยละ 4.70 บาท

ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ซื้อไฟจากเอกชนในราคาแพงสุดห้าอันดับแรก ซึ่งล้วนมีชื่ออักษรเริ่มต้น G นั้น

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องขาดทุนในทุกหน่วยที่รับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว

และไม่ใช่ขาดทุนเล็กๆ น้อยๆ แต่ขาดทุนมโหฬารเกือบเท่าตัว

ถามว่า ในทุกหน่วยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องขาดทุนรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ใครได้กำไร?

ตอบว่า ผู้ที่ได้กำไร ผู้ที่สูบเลือดไปจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเอาไปเป็นกำไรของตนเองนั้น ก็คือ โรงไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟราคาแพงนั่นเอง

กำไรตรงนี้เกิดขึ้นสองต่อ ต่อที่หนึ่ง บริษัทที่ขายไฟได้กำไรอู้ฟู่ กำไรเป็นล่ำเป็นสัน

ต่อที่สอง หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้ก็พุ่งขึ้น ฉุดไม่อยู่

ถามว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะแอ่นอกรับขาดทุนไปจนชั่วฟ้าดินสลาย ได้หรือไม่?

ตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าขาดทุนมากๆ ก็จะถูกการเมืองกดดันให้มีการแปรรูป

จะสมตามเจตนารมณ์ที่บางพรรคการเมือง ต้องการให้มีการแปรรูปมานานแล้ว

ถามว่า ถ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผ่องถ่ายต้นทุนซื้อไฟฟ้าแพงไปให้แก่ประชาชน จะทำอย่างไร?

ตอบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะต้องเพิ่มตัวเลขค่า ft เผื่อล้างขาดทุนให้หมดไป

รูป 2 ของหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ แสดงตัวเลขที่คำนวณเป็นสามกรณี


กรณีที่หนึ่ง ถ้าเพิ่มตัวเลขค่า ft เผื่อล้างขาดทุนให้หมดไปในครั้งเดียว

ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน จะต้องเพิ่มขึ้นจากหน่วยละ 4.72 บาท เพิ่มอีกหน่วยละ 2.00 บาท เป็นหน่วยละ 6.72 บาท

เป็นอันว่า กรณีที่หนึ่ง ครัวเรือนจะเจ็บหนัก ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 42%

แต่สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากหน่วยละ 5.33 บาท เพิ่มอีกหน่วยละ 1.39 บาท เป็นหน่วยละ 6.72 บาท คือ ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 26.1%

ตรงนี้เอง ที่มีบางพรรคการเมืองออกมาวิจารณ์ว่า เป็นการผลักภาระให้แก่ภาคครัวเรือนมากเกินไปอย่างไม่เป็นธรรม

ผมจึงขอเรียกร้อง ให้ลุงตู่และลุงสุพัฒนพงษ์ชี้แจงต่อประชาชนว่า ทำไมจึงไม่เบรกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าแพงเกินเหตุเช่นนั้น?

ตรงนี้เอง ที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างนโยบายของรัฐบาลลุงตู่ ที่มีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนพลังงาน

แต่แนวคิดของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐนั้น เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

เราจึงเสนอให้รัฐบาลยุติการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

ถ้าหากว่าราคาแพงเกินกว่าต้นทุนเฉลี่ยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต + 10%

สำหรับผู้ผลิตเอกชนซึ่งขายไฟฟ้าราคาแพงลิบโลกเช่นนี้ กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ต้องซื้อไฟ เพียงแต่จ่ายค่า “ความพร้อมจ่าย” ก็จะถูกกว่ามากมาย

“การปฏิบัติตามแนวคิดของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ จะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายลดลง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินชดเชย” นายธีระชัย ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น