ข่าวปนคน คนปนข่าว
**เบื้องหลัง"คณิศ" มิสเตอร์EEC มุดเข้าป่ามากะ "พี่ป้อม"
ที่พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวานนี้ (25เม.ย) "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคจัดเปิดตัว “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” อดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรือ EEC เข้าร่วมทีมนโยบายพรรค พปชร.
เรียกว่า ตามเข้ามาสมทบกับ "ดรีมทีมเศรษฐกิจ" ที่เคยเปิดตัวไปก่อนหน้าทั้ง “อุตตม สาวนายน” อดีตรมว.คลัง และ อดีตรมว.อุตสาหกรรม “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรมว.พลังงาน และ อดีตรมว.พาณิชย์ หรือ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรมว.คลัง
นี่ถือเป็นการ "รียูเนียน" ทีมงานมือเศรษฐกิจของ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ของ พปชร.ที่ทำเอา "ลุงป้อม" ยิ้มแก้มปริ เรียบร้อยป่ารอยต่ออีกราย
นั่นเพราะ “ดร.คณิศ” ได้ชื่อว่าเป็น "มิสเตอร์อีอีซี" คีย์แมนคนสำคัญผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ อย่าง EEC ได้จนเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลลุงตู่
ฟังว่า “ลุงป้อม” ปลื้มปริ่ม ได้มือดีมาทำงาน ความเชี่ยวชาญในด้านการวางแผนและการพัฒนาเชิงพื้นที่จากฝีมือ “ดร.คณิศ” ไม่เป็นที่สงสัย ซึ่งลุงป้อมวางแผนไว้ว่า จะให้มิสเตอร์อีอีซี รับเป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้” เป็นภาคต่อ
สำหรับโปรไฟล์ของ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ" เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจ และ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา มีประสบการณ์และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายการเงิน, กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการธนาคารพาณิชย์ และ กรรมการการบินไทย โดย ดร.คณิศ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เป็นเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี2561 ถึงสิงหาคม2565
เบื้องหลังการเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ “ดร.คณิศ” บอกไว้ว่า สำหรับ พล.อ.ประวิตร ตัวเองเรียกติดปากว่า "พี่ป้อม" หลังลาออกจากทุกตำแหน่งเรียบร้อยแล้วก็ตั้งใจมาช่วยงานพี่ป้อม
ที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับ “พี่ป้อม”อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องโครงการน้ำใน EEC พี่ป้อมได้ช่วยทำแผนภาพรวมโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ และผลักดันจนสำเร็จกว่า 20 โครงการ ซึ่งประทับใจความเป็นผู้นำ กล้าซักถามตรงไปตรงมา การจดจำที่แม่นยำ รวมทั้งความกล้าตัดสินใจของพี่ป้อม
ขณะเดียวกันช่วงที่ พล.อ.ประวิตร ได้พบปะกับ "อันวาร์ อิมราฮิม" นายกรัฐมนตรี มาเลเซียที่กรุงเทพฯ มีประเด็นหารือกันเรื่องชายแดนภาคใต้ “พี่ป้อม” ได้ให้โจทย์กับกับ “ดร.คณิศ” ว่า จะสามารถนำเศรษฐกิจเข้าไปพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร? จึงเป็นที่มาของโครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ที่ได้นำเสนอกับพี่ป้อม แล้วก็รับเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐมากะ “พี่ป้อม”
จาก “มิสเตอร์อีอีซี” ก้าวย่างเข้าสู่เส้นทางการเมืองของ ดร.คณิศนับว่าน่าสนใจไม่น้อย ดูจากการวางตัววางงานของพี่ป้อม ก็ต้องยกเครดิตให้หัวหน้าพรรคพปชร. แต่จะไปต่อได้ตามที่หวังแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง พลังประชารัฐจะทำได้ดีแค่ไหน
แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่าตอนนี้ “พี่ป้อม” มีไพ่ในมือทีมเศรษฐกิจพร้อมพรัก มีทีมไว้เป็นขุนพลขับเคลื่อนมากหน้าหลายตา แต่คนภายในพรรคก็ยังแอบห่วงเพียงอย่างเดียวก็ตรงที่ “พี่ป้อม” ปล่อย"ลุงมิ่ง" มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ทึกทักเป็นหัวหน้าทีม...งานนี้ได้ชักใบให้เรือเสีย หลงเข้ารกเข้าพง ก่อนดรีมทีมรวมมิสเตอร์อีอีซี จะได้โชว์ผลงานอ๊ะป่าวลุง!
** “เพื่อไทย” ผวานโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นำไปสู่การยุบพรรค กกต.ปัดเผือกร้อน บอกกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตัดสินว่า ทำได้จริงหรือไม่
หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หวังจะเกทับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่าใคร แถมเป็นนโยบายที่ดูทันสมัย มีวิสัยทัศน์ ตามสโลแกน คิดใหญ่ ทำเป็น
ประกาศไปแล้ว ก็มีเสียงฮือฮาแค่พักเดียว จากนั้นก็แป้ก!! หลายฝ่ายเข้ามารุมถล่ม เพราะหาความชัดเจนในนโยบายไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่จะต้องใช้ในการนี้ จะเอามาจากที่ไหน
แม้พรรคเพื่อไทย จะชี้แจงต่อ กกต.ไปแล้ว ว่า โครงการนี้ จะต้องใช้เงินประมาณ 5.6 แสนล้าน โดยเงินจำนวนนี้มาจาก การบริหารระบบงบประมาณ และภาษี ประกอบด้วย 1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 : 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
แต่ทุกข้อที่ชี้แจงไปนั้นก็มีผู้ออกมาโต้แย้งว่า ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องภาษี เรื่องตัดงบสวัสดิการซ้ำซ้อน ถ้าจะทำให้ได้จริงๆก็ต้อง “กู้เงิน” มาโปะ ... แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้าบอกว่าจะต้องใช้วิธีดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาไปเย้ยหยัน “รัฐบาลลุงตู่” เอาไว้เยอะว่าเป็นจอมกู้... กู้มาแจก... รวมไทยสร้างหนี้... ถ้าตัวเองทำบ้างก็จะถูกย้อนศร ทัวร์ลงแน่ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”
นอกจากนี้ การแจกเงินดิจิทัล ในแง่กฎหมายยังเสี่ยงผิด ทั้งพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 และ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เข้าข่ายเป็นการออก “เงินตรา” อีก ...นี่ยังไม่รวมถึงว่าเป็นนโยบายที่หลอกลวงประชาชน ให้เข้าใจตผิดเพื่อหวังคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อหาความชัดเจนไม่ได้อย่างนี้ ก็เข้าทาง “นักร้อง” อย่าง “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ สุวรรณจรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วย “หมอระวี” นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดนโยบายหาเสียง ที่ใช้จ่ายเงินของพรรคเพื่อไทย ว่าครบถ้วนตามเงื่อนไขตาม มาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ คือ 1. มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2. ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3. ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย... รวมทั้งตรวจสอบว่า สามารถดำเนินการให้เป็นจริงได้หรือไม่ด้วย
“หมอระวี” บอกว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเหล่านี้ เป็นนโยบายประชาชนนิยมเคลือบยาพิษ ที่จะเกิดผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมในอนาคต พร้อมกับเรียกร้องต่อ กกต.ให้เร่งวินิจฉัยประเด็นนี้โดยด่วน เพราะมีเวลาเหลือไม่ถึง 20 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว ถ้าคำวินิจฉัยของ กกต. ออกมาไม่ชัดเจน ก็จะเดินหน้าต่อ ตามกฎหมายให้ถึงที่สุด และขอเตือนไปถึง พรรคเพื่อไทย ด้วยว่าให้รีบถอนนโยบายนี้ออกโดยด่วน ก่อนสายเกินการณ์
ขณะที่ “ชุมสาย ศรียาภัย” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาโต้ว่า ก่อนที่พรรคจะออกนโยบาย ก็ผ่านการศึกษา การประเมิน และมีความมั่นใจว่าทำได้จึงประกาศออกมา จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจสนับสนุนของประชาชน ถ้าทำไม่ได้พรรคก็รับผิดชอบไป แต่ไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิด ที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรค
ทีนโยบายรัฐบาลชุดก่อนที่ประกาศ และอยู่จนครบเทอม ก็ยังทำไม่ได้ ไม่เห็นมีใครหาเหตุยื่นยุบพรรค แต่พอเป็นพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายออกมา ยังไม่ได้ทำงานเลย ขาประจำก็ออกมาประสานเสียงยื่นยุบพรรคทันที... กกต.ก็ขยันต่อเนื่อง ทำสิ่งที่สังคมกังขาก็หลายเรื่อง เรื่องที่ควรทำไม่ทำ ก็ไปรอวิบากกรรมก็แล้วกัน...
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ในที่ประชุมกกต. ได้มีการหารือกันแล้วบอกว่า ตามมาตรา 57 กำหนดให้ กกต.มีอำนาจเพียงแค่ สั่งให้พรรคการเมืองชี้แจงเงื่อนไข 3 ข้อ มาให้ครบเท่านั้น หากชี้แจงมาไม่ครบ ก็ให้สั่งปรับ 500,000 บาท และอีกวันละ10,000 บาท จนกว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการชี้แจงครบตามเงื่อนไข
แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ที่จะตรวจสอบว่า นโยบายที่ชี้แจงมานั้น ทำได้จริงหรือไม่!!
ถ้าจะให้ตัดสินเรื่องนี้ ต้องมีผู้ร้องเรียน และมีการกล่าวอ้างข้อมูลที่มีน้ำหนัก กกต.จึงจะสืบสวนเอาผิดฐานหลอกลวง เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมตาม มาตรา73 (5) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ได้
แหม... ตอนนี้กกต.ก็ไม่อยากรับเผือกร้อนเหมือนกัน เพราะไม่ใช่มีแค่เพื่อไทยพรรคเดียว ที่ออกนโยบายประชานิยมสุดโต่ง!!