ผบ.ทร.เผย 3 เงื่อนไข ติดตั้งเครื่องยนต์จีน เรือดำน้ำไทย “รับประกัน-ชดเชย-ความปลอดภัย” รับใช้เวลา 3 ปี 4 เดือน สร้างเสร็จ พร้อมแช่แข็ง ลำที่ 2 และ 3 ต่อ
วันนี้ (25 เม.ย.) พลเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำลำแรก ขาดเครื่องยนต์ ภายหลังได้หารือผู้บัญชาการทหารเรือจีน ว่า บริษัท CSOC จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำของไทย เป็นเครื่องยนต์จากจีน CHD 620 แทนที่เครื่องยนต์จากเยอรมนี MTU 396 โดยมีข้อพิจารณาสำคัญ 3 ข้อ คือ 1. เครื่องยนต์ต้องมีความปลอดภัย 2. กองทัพเรือจีนต้องให้การรับรองเรื่องนี้ กับกองทัพเรือไทย 3. ต้องมีการชดเชย ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ที่กองทัพเรือไทยควรจะได้รับจากการเสียโอกาสที่ได้รับเรือดำน้ำล่าช้า ถือเป็นข้อพิจารณาสำคัญที่เราจะเดินหน้าต่อหรือ ยกเลิกข้อตกลง
“การประชุมครั้งนี้ผมได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ทร. กองทัพเรือจีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ทั้ง 2 ท่านรับทราบปัญหาดีและให้คำมั่นว่า กองทัพเรือจีนจะสนับสนุนในเรื่องของการให้การรับรอง เครื่องยนต์CHD 620 ที่สร้างขึ้นโดยบริษัท CSOC ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงตามที่ได้มีการพูดคุยกันไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว”
เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเครื่องยนต์ CHD 620 ทางจีนชี้แจงว่า เครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ที่จีนสร้าง มีเทคโนโลยีเหมือนกับ หรือใกล้เคียงกับที่เยอรมนีจัดสร้าง และได้ใช้อยู่บนเรือผิวน้ำ ของกองทัพเรือจีนอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่ แต่นำเครื่องยนต์ CHD 620 มาปรับปรุง ติดตั้งในเรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ทร. ปากีสถาน ก็ตาม หรือแม้แต่เรือดำน้ำของจีนในอนาคต เพราะทราบว่าเยอรมนีไม่อนุญาตให้ติดตั้งเครื่องยนต์ MTU 396 ในเรือดำน้ำจีน
“ดังนั้น การเอาเครื่องยนต์ CHD 620 ซึ่งใช้บนเรือผิวน้ำ ก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้ากันได้ และขอย้ำว่า เป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่นำมาบรรจุในแบตเตอรี่ ในเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ไม่ใช่เครื่องยนต์เรือดำน้ำโดยตรง เพราะฉะนั้นการใช้ เครื่องไฟฟ้ามาบรรจุ แบตเตอรี่ก็จะใช้ ในช่วงเวลาการชาร์จแบตเตอรี่ อาจจะเป็นการลอยเรือผิวน้ำ หรือในระดับความลึกไม่มากนัก และส่งท่อขึ้นมาดูดอากาศ ในส่วนเครื่องยนต์ความปลอดภัยเขาก็ยืนยันว่ามีความปลอดภัย”
สุดท้ายเรื่องการรับประกัน ซึ่งเราได้คุยกับบริษัท CSOC โดยตรง เรื่องการชดเชย ซึ่งในเรื่องรายละเอียดอาจพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่ประเด็นแรก เรื่องการรับประกันแน่นอนว่าทางการจีน เครื่องยนต์หากเราตัดสินใจเดินหน้าเครื่องยนต์ CHD 620 ในระยะเวลาที่มากกว่าปกติ จะเป็นที่เท่าไหร่อยู่ที่การตกลงกัน ส่วนมูลค่าการดูแลเครื่องยนต์ต่างๆ ทั้งเรื่องของอะไหล่ เจ้าหน้าที่ที่มาดูแลตามระยะเวลาทางบริษัท CSOC ต้องสนับสนุนให้เรา ตามที่จะมีการตกลงกันในอนาคต ในเรื่องนี้ไม่ต้องห่วงว่ามูลค่าของการชดเชย จะมีความเพียงพอ หรือมูลค่า ที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
เมื่อถามว่า เป็นการชดเชยในรูปแบบไหน เป็นเรือดำน้ำมือสองหรือไม่ พลเรือเอก เชิงชาย ระบุว่า เป็นรายละเอียดที่จะต้องพูดคุยกันเพิ่มเติม ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ อาจจะเป็นเรื่องที่สูงกว่าระดับกองทัพเรือ ก็เป็นได้ แต่การดำเนินการในขั้นนั้นจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อกองทัพเรือไทยยินยอม หรือยอมรับในการใช้เครื่องยนต์ CHD 620 แล้ว ซึ่งตามกรอบเวลาแล้วกองทัพเรือจีนจะต้องให้การรับรองเครื่องยนต์ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นก็จะมีการพูดคุยในเรื่องของการชดเชย การรับประกัน การสนับสนุนอะหลั่ย เจ้าหน้าที่ในการที่จะมาตรวจสอบเครื่อง ตามที่กองทัพเรือไทยพอใจ หรือยอมรับได้ก่อน ถึงจะมีการเจรจาเรื่องชดเชยอื่นๆ ต่อไป
เมื่อถามว่า หากตัดสินใจใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการต่อเรือดำน้ำจนแล้วเสร็จ
พลเรือเอก เชิงชาย ระบุว่า ใช้เวลาประมาณ 40 เดือน หรือ 3 กับ 4 เดือน ส่วนลำที่ 2 และ 3 นั้นก็คงต้องชะลอเอาไว้ก่อน
“ถือเป็นเหตุผลที่กองทัพเรือจะต้องฟรีสเรือดำน้ำลำที่ 2 ลำที่ 3 ไว้ และเปลี่ยนเป็นโครงการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ ขึ้นมาพิจารณา และ เสนอรัฐบาลในร่างพ.ร.บปี 67 และหากเรือดำน้ำลำที่ 1 มีความชัดเจน ก็จะเดินหน้าเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาต่ออีกที”
เมื่อถามว่า หากหลังเลือกตั้งมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะส่งผลกระทบ หรือไม่ พลเรือเอก เชิงชาย ระบุว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ เพราะร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการพิจารณาโดยรัฐบาลชุดเดิม หากเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ก็ต้อง เริ่มต้นกระบวนการของการจัดงบประมาณใหม่ เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีและร.ม.วกลาโหมที่จะต้องพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า หากได้เรือดำน้ำในปี 2568 แต่ยังไม่มีลำที่ 2 ที่ 3 และจะฝึกอย่างไร พลเรือเอก เชิงชาย ระบุว่า ได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ทร.จีน ให้ความมั่นใจว่า จะให้การสนับสนุนการฝึกกำลังพลเรือดำน้ำ ให้สามารถปฏิบัติการในเรือดำน้ำลำที่ 1 ได้ ตามสัญญาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ การฝึกกำลังพลเรือดำน้ำตามมาตรฐานของ ทร.จีนต้องใช้เวลา 2 ปี ต้องส่งไปเข้าโรงเรียนเรือดำน้ำที่จีนเป็นเวลา 2 ปี และการใช้เรือดำน้ำปฏิบัติการทางยุทธวิธีใช้อาวุธได้ อีก 2 ปีครึ่ง ซึ่งทาง ทร. จีน พร้อมที่จะสนับสนุนตามสัญญา
“ตนได้พูดคุยกับ ผบ.ทร.จีน ในเรื่องการส่งกำลังพลไปฝึกในการใช้เรือดำน้ำ อาจจะเป็นการฝึกฝ่ายอำนวยการ หรือเจ้าหน้าที่ ในการวางแผนเพื่อใช้เรือดำน้ำให้คุ้มค่า ตามยุทธวิธีของเรือดำน้ำ ซึ่ง ผบ.ทร.จีน ยินดีให้การสนับสนุน”
อย่างไรก็ตาม ผบ.ทร. กล่าวเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขที่สองเรื่องการชดเชย จะใช้คณะกรรมการชุดเดิม ที่ เสธ.กองทัพเรือ เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคไปพูดคุยอยู่แล้ว คิดว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า หากขอให้จีนชดเชยเป็นเรือดำน้ำมือสอง ต้องตั้งเงื่อนไขหรือไม่ว่าเป็นรุ่นอะไร ไม่ใช้อะไหล่ของกองทัพเรือไทยซ่อมปรับปรุง พลเรือเอก เชิงชาย ระบุว่า ถ้ากองทัพเรือต้องการจริงๆ น่าจะเป็นเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เรามีใช้ในอนาคตคือชั้นหยวน แต่หากจะเป็นรุ่นอื่นก็จะต้องพูดคุยกันต่อไปในอนาคต
“ผมไม่ขอใช้คำว่าชดเชย แต่ใช้เป็นการพูดคุยจะดีกว่า เพราะหากเราเดินหน้าด้วยการใช้เครื่องยนต์จีนก็ต้องได้อะไร กลับมาบ้าง ส่วนการรับประกันเครื่องยนต์จะกี่ปีนั้น ต้องเจรจา แต่ย้ำว่า ต้องขอการรับประกันที่มากกว่าปกติ จนเป็นที่เราพอใจ รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลด้วย”