ทร.รับ “เรือหลวงช้าง” ขนาด 2.5 หมื่นตัน ขึ้นอันดับหนึ่งเรือลำใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือ ด้าน ผบ.ทร.มั่นใจขีดความสามารถ ตั้งงบฯ 67 อีก 950 ล้าน เสริมเขี้ยวเล็บ ระบบอำนวยการบ-ติดตั้งปืนเรดาร์ ยืนยัน แม้ลำใหญ่ แต่ไม่สิ้นเปลือง ส่งผลดีสัมพันธ์ ทร. ไทย-จีน
วันนี้ (25 เม.ย.) พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีต้อนรับเรือหลวงช้าง เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกลำใหม่ของกองทัพเรือ ที่สั่งต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางถึงประเทศไทย ณ ท่าเรือจุกเสม็ดฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการกองทัพเรือในพื้นที่ ตลอดจนครอบครัวของกำลังพลประจำเรือ รวมถึงครอบครัวของทหารกองประจำการ (พลทหาร) ที่เดินทางไปรับเรือ ร่วมในพิธี
ในเวลา 15.45 น. ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นในเวลา 16.00 น. ได้ขึ้นแท่นรับความเคารพจากกำลังพลประจำเรือ โดย พลเรือเอก อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาในการจัดหาเรือหลวงช้างเข้าประจำการ
พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผบ.ทร. กล่าวต้อนรับเรือหลวงช้าง และให้โอวาทกำลังพลประจำเรือตอนหนึ่งว่า ตามที่กองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือหลวงช้างเข้าประจำการเพื่อรองรับภารกิจในการป้องกันรักษาอธิปไตย และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกและสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำตลอดจนถึงการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาสาธารณภัยพิบัติต่างๆ
นับเป็นการพัฒนากำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือ ซึ่งตนมั่นใจว่า ด้วยขีดความสามารถของเรือหลวงช้างลำนี้ จะเพิ่มศักยภาพให้กองทัพเรือที่จะส่งผลให้การสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของประเทศประสบความสำเร็จลุล่วงตามที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี
ในส่วนของกำลังพลประจำเรือขอชื่นชมทุกท่านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกำลังพลชุดแรกปฏิบัติงานในเรือลำนี้ และสามารถนำเรือเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ ประเทศไทยด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย และขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้เรือลำนี้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป
พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า สำหรับเรือหลวงช้างลำนี้ เป็นเรือสนับสนุนยกพลขึ้นบก เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำใช้ในการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเรือหลวงช้างที่เดินทางกลับมาประเทศไทย การติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างยังไม่เรียบร้อยเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอติดต้้งอุปกรณ์ เช่น ระบบอาวุธ ปืนหลัก ปืนรอง ศูนย์ยุทธการ ระบบตรวจการณ์เรดาร์อากาศ และเรดาร์การควบคุมบังคับบัญชาของเรือผิวน้ำ รวมถึงห้องยุทธการ กองทัพเรือจะได้การว่าจ้างบริษัทติดตั้งระบบต่างๆ พร้อมปฏิบัติภารกิจโดยกองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2567 ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีและรอสภาใหม่พิจารณาต่อไปวงเงิน 950 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภารกิจในการเป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำยังต้องมีการติดตั้งระบบในระยะต่อไป เมื่อมีการจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาประจำการก็ค่อยมาดำเนินการตรงนี้ได้ ดังนั้น จึงยังมีเวลา แต่เรื่องระบบอาวุธ ศูนย์ยุทธการ และอาวุธปืน จำเป็นต้องติดตั้งให้เรือก่อน ยืนยันว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน นอกจากภารกิจในการจัดหายกพลขึ้นบกตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือแล้ว เรือดังกล่าวยังสามารถใช้ในงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเรือยกพลขนาดใหญ่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติการได้ในช่วงที่คลื่นลมแรง
เมื่อถามว่า มีก็วิจารณ์เรื่องค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเมื่อมีการออกปฏิบัติการ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า แม้เรือดังกล่าวจะเป็นเรือใหญ่แต่เมื่อออกไปปฎิบัติภารกิจตามปกติจะใช้ความเร็วมัธยัสถ์ในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เรือช้างมีความเร็วสูงสุด 25 นอต แต่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ถ้าเราเดินเรือด้วยความเร็ว 12 นอต ก็จะใช้น้ำมันไม่มากนัก อาจจะเทียบเท่ากับ เรือจักรีนฤเบศหรือเรือหลวงอ่างทอง
เมื่อถามถึงเพราะกังวลเรื่องระบบของเรือจีน ผบ.ทร.กล่าวว่า เรือที่มายังไม่ได้มีการติดตั้งระบบอาวุธ ระบบเซ็นเซอร์ระบบอำนวยการ ซึ่งในงบประมาณปี 67 ก็จะมีการคัดเลือกบริษัทที่มาดำเนินการไม่จำกัดว่าต้องเป็นของจีน แต่ต้องมาดูความต้องการและภารกิจของเรือว่าต้องการแบบไหน และเข้ากันได้กับระบบของเรือหลวงช้างหรือไม่
“การจัดหาเรือลำนี้ก็ส่งผลดีต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ผมได้มีโอกาสได้มีการเยือนจีน โดยท่านมีหนังสือเชิญผมและทีมงานเดินทางไปเยือนกองทัพเรือจีนอย่างเป็นทางการก็ได้มีการเข้าพบ ผบ.ทร.จีน และเข้าเยี่ยมคำนับรัฐมนตรีกลาโหมจีน ถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กองทัพเรือสองชาติหลังจากสถานการณ์โควิดที่ห่างหายไป นอกจากนั้น จะมีการจัดประชุมเนวีทอล์ก ระหว่างกองทัพเรือสองชาติ ครั้งแรกโดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ ก็จะมีการเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่ออนุมัติแนวทางการประชุมต่อไป รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ในการฝึกร่วมอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกภายใต้รหัส บลูสไตร์คครั้งที่ห้ากองทัพเรือไทยจะเป็นเจ้าภาพ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกองทัพเรือมีจำนวนเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไม่เพียงพอตามยุทธศาสตร์
ที่วางไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติม เพื่อให้มีขีดความสามารถเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด ตั้งแต่ในภาวะปกติโดยมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงอีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ พร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือ กู้ภัยเรือดำน้ำ และการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และท่าเรือ ทั้งนี้ ตามระเบียบของกองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่างๆ ในประเทศไทย โดยเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “เรือหลวงช้าง” (เกาะช้าง จ.ตราด)
ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง เป็นเรือประเภทอเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ มีกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย ปัจจุบันมี นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น เป็นผู้บังคับการเรือ คุณลักษณะที่สำคัญมีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน ทำให้เรือลำดังกล่าวเป็นเรือมีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือ แทนเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเฮริลคอปเตอร์ ที่ทร. ไทยจัดซื้อจากสเปนซึ่งมีระวางขับน้ำ 11,544 ตัน
ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 นอต
- ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 1 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 11 คัน
- ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 2 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 9 คัน
- อู่ลอย สามารถบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลาง(LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือรถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) 57 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ถึง 600 นาย ใช้งบประมาผณในการจัดซื้อ 6,100 ล้าน
เมื่อเข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการแล้ว เรือหลวงช้าง จะมีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการโดยมี ภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ เป็นต้น