xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเปลี่ยนอนาคตร่วมทวงสิทธิคนพิการ ทำตามนโยบาย “คนพิการต้องเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (25 เม.ย 66) เวลา 11.00 น. ผศ.ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์ หัวหน้าพรรคเปลี่ยนอนาคต นายพินโย รู้ธรรม ผู้อำนวยการพรรคเปลี่ยนอนาคต นางอุมาพร แพรประเสริฐ เลขาธิการพรรคเปลี่ยนอนาคต พร้อมสมาชิกพรรค ได้เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเป็นกำลังใจแก่มูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ โดยนายปรีดา ลิ้มนนทกุล เลขาธิการมูลนิธิปัญพัฒน์ และสมาชิกมูลนิธิปัญพัฒน์ ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องขอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย (กรณีคนที่มีความพิการแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนขอมีบัตรคนพิการได้กว่า 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ) ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบาย 6 ทุน 5 เปลี่ยน ของพรรคเปลี่ยนอนาคตที่ได้แถลงไว้

นายพินโย รู้ธรรม ผู้อำนวยการพรรคเปลี่ยนอนาคต กล่าวว่า กรณีคนพิการที่มีความพิการแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้นั้น พรรคเปลี่ยนอนาคตเคยพาคนพิการไปทำการตรวจประเมินความพิการจากแพทย์ ได้รับใบประเมินความพิการ แต่แพทย์ไม่ได้ทำความเห็นว่ามีความพิการตามประกาศกระทรวง ทำความเห็นส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรคนพิการดำเนินการตามกฎหมาย ดังเช่น กรณี ของนายวัทธิกร เข้มต้น ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชน ขาหัก ต้องใส่เหล็กดามขา ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เดินไม่ถนัด มีอาการปวดร้าวขาที่ใส่เหล็ก ยกของหนักไม่ได้ ทำงานไม่ได้ มารดาเป็นผู้ดูแล อาการภายนอกอาจจะดูเหมือนคนทั่วไป แต่ภายในร่างกายไม่ปกติ ได้เดินทางไปเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จนได้รับใบประเมินความพิการและระบุความพิการ แต่แพทย์ไม่แสดงความเห็นว่ามีความพิการ ตามประกาศกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ทำความเห็นส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการพิจารณาตามกฎหมาย สมาชิกพรรคเปลี่ยนอนาคตและมูลนิธิปัญพัฒน์ฯ จึงได้พานายวัทธิกร เข้มต้น ไปยื่นเรื่องขอมีบัตรคนพิการที่ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดนนทบุรี ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการฯ ได้ปรึกษาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี แล้วแจ้งว่าไม่สามารถออกบัตรคนพิการให้ได้ เนื่องจากได้ปรึกษาแพทย์แล้ว มูลนิธิปัญพัฒน์ฯ จึงได้พานายวัทธิกรฯไปยื่นหนังสือร้องเรียนฯต่อกระทรวงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้คนพิการไม่สามารถมีบัตรคนพิการซึ่งเปรียบเหมือนประตูบานแรกในการเข้าถึงสิทธิตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550

จากกรณีตัวอย่างจะเห็นว่ามีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำบัตรคนพิการ 2 ตำแหน่ง คือ “นักวิชาชีพด้านการแพทย์” ที่ให้ความเห็นถึงความพิการ และรับรองในการออก “ใบประเมินความพิการ” เพื่อส่งต่อให้ “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ”

“นักวิชาชีพด้านการแพทย์” ทำหน้าที่ให้ความเห็นถึงความพิการ และรับรองในการออก “ใบประเมินความพิการ” ส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากหลายสาขา เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์เฉพาะทางที่ทำการรักษาผู้ป่วย จนมีผลการรักษาทำให้มีความพิการ หรือเฉพาะทางด้านร่างกายต่างๆ (ตา หู) ความเห็นของแพทย์นั้นเป็นที่สุด เมื่อแพทย์ไม่ทำการออก “ใบประเมินความพิการ” ให้กับคนไข้ที่ตนเองรักษา ก็ทำให้คนพิการนั้นไม่สามารถออกบัตรได้ ซึ่งกรณีนี้ จึงควรมีการแก้ไขให้ผู้ที่มีความรู้ด้านอื่น เช่น นักกายภาพบำบัดมาเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความเห็นและออกใบประเมินความพิการได้

“เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ” บางคนไม่พิจารณาทำบัตรคนพิการให้กับคนที่มีความพิการตามนิยามความพิการ (มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ตามกฎหมาย ซึ่งอาจเกิดจาก (1) ไม่ได้ศึกษาประกาศกระทรวง คำสั่ง ต่างๆ และนิยามกฎหมายที่ต่างประเทศได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วน หรือ (2) ถ้าแพทย์ไม่ออกใบประเมินความพิการให้ ก็จะไม่ทำบัตรคนพิการให้ หรือหากออกใบประเมินความพิการให้แล้วแต่ไม่ระบุว่าพิการ แต่ระบุให้เป็นดุลพินิจของเจ้า หน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ ก็ปฏิเสธที่จะไม่ใช้ดุลพินิจและอ้างอิงว่าเป็นความเห็นของแพทย์ ซึ่งกรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่โดยตรงอาจเป็นผู้ละเมิดสิทธิทำให้คนพิการเสียสิทธิในการเข้าถึงสิทธิตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550

นายพินโยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิปัญพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่ามีคนพิการที่อาจเข้าข่ายถูกละเมิดสิทธิเพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนมีบัตรคนพิการได้ทั่วประเทศ กว่า 2.4 ล้านคน จึงเป็นที่มาของการมายื่นหนังสือหารือขอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งหากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นจะมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนพิการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอีก 2.4 ล้านคน ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้ตามกฎหมายก็จะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ผู้ดูแล และยังสามารถเข้าถึงกองทุนต่าง ๆ รวมถึงการประอบอาชีพ มีรายได้ดูแลตนเอง สร้างความรู้สึกการมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งพรรคเปลี่ยนอนาคตจะได้ติดตามผลการยื่นหนังสือครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ต่อไป

อนึ่งในวันเดียวกันช่วงเวลา 14.00 น. หัวหน้าพรรคเปลี่ยนอนาคตพร้อมคณะกรรมการบริหารได้เดินทางไปที่สำนักข่าวเนชั่น บางนา เข้าพบผู้บริหารพร้อมมอบนโยบายพรรคเปลี่ยนอนาคตและพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงที่มาของนโยบาย 6 ทุน 5 เปลี่ยน สำหรับคนพิการ นโยบายที่สามารถทำได้จริง ทำได้ทันทีภายใต้งบประมาณที่มีอยู่แล้วแต่คนพิการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ภาคราชการไม่เคยแก้ไข สำหรับนโยบายเปลี่ยนอนาคต 6 ทุน ได้แก่ 1) ทุนวิสาหกิจชุมชนครอบครัวคนพิการ 1 ล้านบาท 2) ทุนอาชีพอิสระ 1.2 แสนบาท 3) ทุนครอบครัวคนพิการ 1.2 แสนบาท 4) ทุนปรับบ้านเปลี่ยนอนาคต 4 หมื่นบาท 5) ทุนคนพิการ (ยากจน) 1 หมื่นบาท 6) ทุนคนพิการเสียชีวิต 1 หมื่นบาท และนโยบาย 5 เปลี่ยน ได้แก่ 1) เปลี่ยนจำนวนคนพิการให้มีบัตรคนพิการครบ 4.5 ล้านคน 2) เปลี่ยนใบรับรองแพทย์ความพิการให้เป็นตลอดชีพ 3) เปลี่ยนการจ้างงานคนพิการเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ 4) เปลี่ยนอาสาสมัคร(อสม./อพม./จิตอาสา) เป็นผู้ช่วยเปลี่ยนอนาคต 100,000 คน 5) เปลี่ยนเบี้ยยังชีพคนพิการ 800 บาท เป็นกองทุนเปลี่ยนอนาคต

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 วันเปลี่ยนอนาคตของคนพิการและครอบครัวคนพิการ ขอเชิญชวนทุกท่านออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครและพรรคการเมือง พรรคเปลี่ยนอนาคต เบอร์ 65








กำลังโหลดความคิดเห็น