ครม. รับทราบ รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุผลงานสำคัญ 11 ข้อ และมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน
วันนี้ (25 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบ รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้
1. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List ) มีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว รวม 5 โครงการ โดยทุกโครงการมีความก้าวหน้า ดังนี้ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน (2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ เช่น ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย (3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เช่น มีการถมทะเล มีการสร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ (4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล เป็นต้น (5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) มีการชะลอโครงการ เนื่องจาก การบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีสถานะเป็นเอกชน
2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีการจัดตั้งไปแล้ว 7 เขต เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีการประกาศจัดตั้งแล้ว รวม 28 เขต เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์น เป็นต้น ทุกแห่งได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว
3. แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ 1. พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 2. พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3. พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4. พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอ รวม 30 อำเภอ ในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567
4. ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd อาทิ มีการก่อสร้างกลุ่มอาคารในการพัฒนาพื้นที่ของ EECi เพื่อรองรับพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และ โครงการ EECd มีการจัดโซนนิงเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
5. การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC-OSS) เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ EEC รวม 44 งานบริการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขอขยายกิจการ และการต่ออายุ ใบอนุญาต มีการดำเนินงานร่วมกับ อปท. และร่วมกันพัฒนางานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่
6. การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดย มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนจำนวน 18 ประเทศทั่วโลกและหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น โดยเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 1 แนวคิด คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว
7. การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ 8. แผนงานบูรณาการ EEC ขับเคลื่อนแผนบูรณาการ สานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับ ความต้องการของอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับ การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ
9. ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผน และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC
อาทิ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G
10. กองทุนพัฒนาอีอีซี มีการดำเนินการ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบโครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเป็นต้น
11. ระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบข้อบังคับประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC มีผลบังคับใช้แล้วรวม 10 ฉบับ