กกต.เปิด 5 ขั้นตอนคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ระบุ กรณีทุกพรรครวมกันไม่ครบ 100 คน ให้พรรคมีเศษมากที่สุดอีก 1 คน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะครบจํานวน 100 คน ถ้าเศษเท่ากัน กรณีเกิน 100 ต้องจับสลาก
วันนี้ (24 เม.ย.) สํานักงาน กกต.เผยแพร่หลักเกณฑ์การคํานวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดย 1. ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
2. ให้นําคะแนนรวมจาก 1. หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
3. ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมือง จะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ย ตาม 2. ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจํานวนเต็มคือ จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
4. ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกัน ทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจํานวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคํานวณตาม 3. พรรคใดเป็นหรือมีเศษจํานวนมากที่สุด ให้ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจํานวน 100 คน
5. ในการดําเนินการตาม ข้อ 4. ถ้าในลําดับใดมีเศษเท่ากันและจะทําให้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจํานวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวัน และเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน
และให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมือง ตามจํานวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคํานวณได้รับเลือกตั้ง เรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น จนครบจํานวน แต่ต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร
จํานวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564