“ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชน ชี้ การถือครองหุ้นสื่อ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ปชป.นครนายก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เคยมีคำพิพากษาบรรทัดฐานในคดีเลือกตั้งนายกฯท้องถิ่นแล้ว ไม่ใช่เคสแรก
วันที่ 23 เมษายน 2566 กรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูก ผอ.กกต. ประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 นครนายก ตัดสิทธิ์การลงรับสมัคร ส.ส.โดยระบุถือครองหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ว่าเข้าข่ายตามลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัคร ส.ส.
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง ในประเด็นดังกล่าว โดยได้อธิบายและให้ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน ว่า ก่อนอื่นคดีนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ตนไม่ได้ไปชี้นำหรือไปละเมิดอำนาจศาล แต่จะให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ โดยข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาด ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้เช่นนี้ ไม่ต้องการให้นักการเมืองครอบงำสื่อมวลชน ทำให้สื่อขาดอิสระ ขาดความเป็นกลาง จึงบัญญัติเป็นข้อห้ามในคุณสมบัติไว้ ในการสมัคร ส.ส. โดยใช้เกณฑ์ต้องคลีนก่อนวันสมัคร แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต พูดภาษาชาวบ้าน ห้ามเป็นเจ้าของสื่อหรือ ถือหุ้นสื่อ หากพิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561มาตรา 42 (3) โดยโทษทางอาญาและตัดสิทธิการเมือง โดยบัญญัติไว้ ตามมาตรา151 ซึ่งมีอัตราโทษโทษ จําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปีด้วย
ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 2562 คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706 / 2562 ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนครยื่นคำร้องว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ประเด็นที่ศาลชี้ ในสาระสำคัญว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 98(3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา42(3) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์จึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงนี้ แตกต่างจากของ นายชาญชัยฯ ผู้สมัคร ส.ส.ปชป.เขต 2 นครนายก เพราะนายชาญชัยซื้อหุ้น ถือหุ้นในบริษัท AIS แต่ผลทางกฎหมายไม่ต่างกัน ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ยกตัวอย่าง ผู้สมัคร นายก อบต.รายหนึ่ง จังหวัดนนทบุรี กกต.ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้สมัครนายก อบต.ถือครองหุ้น อสมท.ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติว่า ถือครองหุ้น อสมท.เพราะหลักฐาน คือ ใบหุ้น แม้ผู้สมัครฯ อ้างว่า หลงลืม ไม่ทราบมาก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้สมัครรายนั้นมีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครนายก อบต. ดังนั้น ข้อเท็จจริงของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.นครนายก เขต 2 ที่ถือหุ้น AIS ไม่แตกต่างกัน เพราะข้อกฎหมายห้ามเด็ดขาด ที่นายชาญชัยฯอ้างว่า เป็นเคสแรก ในประเทศไทย ตีโพยตีพาย คงจะไม่ใช่ ต้องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนให้สัมภาษณ์สื่อ
ประเด็นข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบ พรป.ส.ส.2561 มาตรา 42(3) เป็นหน้าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองตรวจสอบ แต่ตนจะชี้ว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่(ขณะนั้น) กับกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถูกร้องในลักษณะเดียวกัน โดยใช้ช่อง มาตรา 82 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดโดยถือตามความเป็นจริง โดยไม่นำแนวคำพิพากษาศาลฎีกามาเป็นแนวทางวินิจฉัย ส่วนกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.ปชป. เขต 2 นครนายก เป็นอำนาจชี้ขาดว่าจะเพิกถอนคำสั่ง กกต.ที่ตัดสิทธิสมัคร ส.ส.หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การถือครองหุ้นสื่อ อาทิ การถือหุ้น อสมท.การถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสื่อ ไม่แตกต่างจากนักเล่นหุ้น ช้อนซื้อหุ้นทั้งหลาย ที่เป็นนักเลือกตั้ง แต่หลงลืม คิดว่า กกต.ตรวจสอบไม่พบ ศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานในคดีเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แล้ว ดังนั้น นายชายญชัยฯ จึงไม่ใช่รายแรก ที่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง คัดกรองแต่ด่านแรก
ส่วนที่นายชาญชัยฯ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ผู้สมัคร คนนั้น คนนี้ พรรคการเมืองนั่น พรรคการเมืองนี้ ถือครองหุ้นเหมือนกับตนเอง แล้วไประบุชื่อ หากไม่เป็นความจริง ไม่มีหลักฐาน ศรนั้นอาจย้อนกลับไปหาตนเอง ดังนั้น หากมีข้อมูลการถือครองหุ้น ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้าง ควรส่งรายชื่อ รายละเอียดให้ กกต.ตรวจสอบ จะได้สอยก่อนที่จะหย่อนบัตรเลือกตั้ง