xs
xsm
sm
md
lg

น่าคิด! “พี่คนดี” ร่ายกลอน “เงินกระตุ้นเศรษฐากิจ” “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้ “เรื่องเศร้า!” การยอมรับฝ่าย “ปชต.” โดยคนๆ เดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย
“พี่คนดี” ร่ายกลอน “เงินกระตุ้นเศรษฐากิจ” แจกเงินตอนฤดูหาเสียง คือ การกระตุ้นให้คนเลือก “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้ เรื่องน่าเศร้าของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ คนไทยคิดแต่จะได้ และยอมรับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” โดยคนๆ เดียว

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 เม.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) โพสต์ข้อความว่า การแจกเงินตอนเศรษฐกิจตกสะเก็ด อาจจะพออ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การแจกเงินตอนฤดูหาเสียง คือ การกระตุ้นให้คนเลือกพรรคมรึงจ้า #ซื้อเสียงล่วงหน้าต้องยุบพรรค

โดยเขียนบทกลอนชื่อ “เงินกระตุ้นเศรษฐากิจ” มีเนื้อหาดังนี้

นั่นเงินทุน เพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจ
หรือสินบน ที่ใช้ติด กิจเศรษฐา
ให้สัญญา ประชาชน ชวนคนกา
เหมือนซื้อเสียง ล่วงหน้า ด้วยเงินคลัง

ใครเอยใช้ เงินหลวง ลวงชาวบ้าน
ด้วยความด้าน เสี้ยนอำนาจ จึงคาดหวัง
ไม่สนใจ ว่าเมืองไทย จะใกล้พัง
เพราะเป็นตังค์ จากคลังรัฐ ใช่อัฐตน

นโยบาย แจกดื้อดื้อ คือซื้อเสียง
แม้สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมาย ก็ไม่สน
พวกใช้เงิน คนอื่นเปย์ มีเล่ห์กล
คิดช่วยคน หรือคิดปล้น ประเทศไทย

ใครซื้อเสียง อาจต้องเสี่ยง โดนยุบพรรค
ช่างกล้านัก ทักษ์ชอบยั่ว กลัวที่ไหน
จะตะโกน ว่าโดนแกล้ง รุนแรงไป
ด่าศาลไทย ว่าไม่ให้ ความเป็นธรรม

มุกเก่างั้ก ทักษ์เคยเล่น ไม่เห็นใหม่
คิดการใหญ่ แลนด์สไลด์ ให้น่าขำ
ความเอาเปรียบ มีให้เห็น เป็นประจำ
แล้วก็ทำ ชาติเพลี่ยงพล้ำ ต่ำทุกที

พวกที่บ่น ความเหลื่อมล้ำ ทำขื่นขม
เลือกทีไร ก็นิยม ชมเศรษฐี
ได้ส่วนแบ่ง เป็นเงินเศษ ทุเรศดี
ทุกสี่ปี หวังเงินแจก แลกการกา

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

“ก่อนที่จะถึงเวลาต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โพลของสำนักต่างๆ ต่างก็ทยอยทำกันออกมาเป็นระยะ นอกจากจะมีนิด้าโพล และซูเปอร์โพล ซึ่งดูเหมือนจะเป็น 2 สำนักที่ทำโพลออกมาอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้ยังมี เนชั่นโพล และล่าสุด ที่เห็นคือ มติชน-เดลินิวส์โพล

นิด้าโพล ซูเปอร์โพล และเนชั่นโพล เท่าที่ดู น่าจะเป็นการสำรวจโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างตามระเบียบวิธีวิจัย แต่นิด้าโพลใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 2,000 ตัวอย่าง ซูเปอร์โพลใช้ประมาณ 6,000 ตัวอย่าง ส่วนเนชั่นใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึงเกือบ 40,000 ตัวอย่าง และเป็นการสุ่มแยกรายภาคที่เรียกว่า stratified random sampling ส่วนกรณี มติชน-เดลินิวส์ แม้ว่าจะมีคนโหวตเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการให้โหวตออนไลน์ จึงไม่น่าจะเรียกว่าโพลได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าโพลอื่นๆ เพราะผู้ที่โหวตเป็นผู้ที่เป็นผู้ติดตามข่าวของมติชนและเดลินิวส์เท่านั้น

ผลการสำรวจของทุกสำนักที่ออกมาตรงกัน คือ พรรคเพื่อไทย มีคะแนนนิยมเป็นอันดับที่ 1 นิด้าโพลให้พรรคก้าวไกล เป็นอันดับที่ 2 และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอันดับ 3 ซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทย เป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่อันดับ 5 และพรรคก้าวไกล อยู่อันดับ 6 ที่แตกต่างกันมากระหว่างนิด้าโพล และ ซูเปอร์โพล คือ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ผลของซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทย เป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 นิด้าโพล กลับให้พรรคภูมิใจไทย เป็นอันดับ 5 และ พรรคพลังประชารัฐ เป็นอันดับ 8 ที่น่าตกใจคือ ผลของนิด้าโพลบอกว่ามีคนเลือกพรรคภูมิใจไทย เพียง 3.75% นอกจากจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่คาดว่าอย่างน้อยพรรคภูมิใจไทยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็คงต้องมีข้อกังขากับผลการสำรวจของนิด้าโพลเป็นแน่

ผลสำรวจของทุกสำนักยกเว้นซูเปอร์โพล ยังถามกลุ่มตัวอย่างว่า ต้องการสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผลก็คือ ในภาพรวมทั้งประเทศให้อุ๊งอิ๊ง เป็นอันดับ 1 นายพิธา อันดับ 2 และ พลเอก ประยุทธ์ อันดับ 3 แต่คะแนนที่ 3 ห่างจากที่ 1 และที่ 2 ค่อนข้างมาก

หากผลการสำรวจที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างสะท้อนความเป็นจริงของประชาชนทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมากที่คนไทยเรายังคงนิยมพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงต้องทำตามคำสั่งของเจ้าของพรรคเพียงคนเดียว แม้จะมีกรรมการบริหารพรรค แต่ก็ต้องลงมติตามคำสั่งของเจ้าของพรรคอยู่ดี ส่งลูกสาวมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีข้ามหัวหัวหน้าพรรค และนักการเมืองคุณภาพในพรรค ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ชี้ให้ผู้สื่อข่าวดูบนเวทีว่ามีเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นอกจากลูกสาวเจ้าของพรรค แคนดิเดตอีกคนก็มาจากภาคธุรกิจนอกพรรค และอีกคนก็คือคนเดิมคือ นายชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งมาเป็นเพียงตัวประกอบ บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคซึ่งหลายคนก็ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์ แต่ก็ไม่มีใครกล้าหือแม้แต่คนเดียว

เรื่องทำนองนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เล่าว่า เมื่อครั้งมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคลูกของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งทำให้พรรคไทยรักษาชาติ ต้องถูกยุบไป ครั้งนั้นไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้รู้ล่วงหน้าเลยแม้แต่คนเดียว และเมื่อมีการโหวคเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้โหวตให้แคนดิเดตของพรรคตัวเอง แต่กลับไปโหวตให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แทน มีเพียงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ลาออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย แต่คนอื่นๆ ยังยอมทนอยู่ได้ไม่ว่ากระไร

แม้ผลโพลทุกสำนักจะชี้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 แต่ผลคะแนนที่ได้ยังห่างไกลจากเป้าหมายของพรรคเพื่อไทย คือ ได้ ส.ส.จำนวน 310 ที่นั่ง อีกทั้งผลโพลของพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ดูต่ำเกินจริง เมื่อเลือกตั้งจริงๆ ทั้ง 2 พรรค ควรได้จำนวน ส.ส. มากกว่าผลโพล ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ มีน้อยมาก กระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีใครต้องการสนับสนุนให้อุ๊งอิ๊งเป็นนายกรัฐมนตรีมากเพียงใด แต่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาตามโพล พรรคเพื่อไทยก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทั้งหมดต้องรอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไร จะแตกต่างจากผลโพลมากน้อยแค่ไหน

ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ระบบเลือกตั้งทั้งในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่น่าจะเหมาะกับประเทศไทย เราได้เรียนรู้ประชาธิปไตยกันมานานเกือบ 91 ปีแล้ว ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เรายังคงตั้งคำถามว่า เราจะได้อะไรถ้าเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ เราไม่ตั้งคำถามต่อว่า หากเราได้อะไรแล้วจะทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือไม่ เพราะเราไม่เคยสนใจ ขอให้เราได้เป็นพอ

กรณีแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกคน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะต้องใช้เงินถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะมาจากไหนก็ไม่ได้บอกชัดเจน มิใยที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ท่าน ออกมาคัดค้านท้วงติงว่าจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ ผู้ว่าฯ ท่านปัจจุบันก็ให้สัมภาษณ์ว่า ความสำคัญขณะนี้ คือ การพยายามทำให้การเงินการคลังของประเทศอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในขณะนี้ที่จะต้องไปอัดฉีดเงินลงไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ฟัง ยังดึงดันเดินหน้าต่อไป (ซึ่งก็คาดไว้แล้ว) และเมื่อผลโพลทุกสำนักออกมา ก็ยังปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 เช่นเดิม ทั้งยังมากกว่าเดิม

นี่คือ เรื่องน่าเศร้า และแน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยยังจะคงเดินหน้าต่อไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาชี้ว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็ตาม นี่คือ การกระทำที่ไม่ต่างกับที่ได้ทำในอดีต ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย นั่นคือ การใช้ประชานิยมเพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยเอาเรื่องผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศเป็นเรื่องรอง นี่น่าเศร้ายิ่งกว่า ก็คือ เมื่อพรรคเพื่อไทยทำแล้วได้ผล พรรคการเมืองอื่นๆ ก็เอาบ้าง โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ เกือบทุกพรรค ยกเว้นบางพรรค ล้วนแล้วหาเสียงไปในทำนองนี้ทั้งสิ้น และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

หากเป็นเช่นนี้ ประเทศเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น