“เรืองไกร” ร้อง กกต.สอบเพื่อไทย ยุ ปชช.รับเงินซื้อเสียง - “ณัฐวุฒิ” ครอบงำ ชี้นำพรรค พ่วงเงินดิจิทัลหมื่นบาท เชื่อ นโบายหลอกลวง เหตุเงินที่อ้างจะใช้ในงบปี 67 ถูกใช้ไปหมดแล้ว
วันนี้ (21 เม.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทยใน 3 ประเด็น คือ 1. กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยบนเวทีที่ จ.อุดรธานี เมื่อช่วงต้นปี ด้วยถ้อยคำว่า “รับเงินหมา กาเพื่อไทย” เนื่องจากเห็นว่า คำพูดดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) โดยได้รวบรวมหลักฐานคลิปวิดีโอการปราศรัยและข้อความจากเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของพรรค
2. กรณี นายณัฐวุฒิ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นเวทีไปปราศรัยช่วยหาเสียง เนื่องจาก นายณัฐวุฒิ นอกจากไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว ยังต้องคำพิพากษาคดีบุกรุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่าอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย การกระทำของนายณัฐวุฒิ บ่งบอกถึงการเป็นดาวเด่นของพรรคเพื่อไทย จึงเกิดคำถามว่าเป็นการชี้นำครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา เคยยื่นร้องในประเด็นดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนั้น กกต.ได้ชี้แจงว่านายณัฐวุฒิ ได้ขึ้นเวทีแค่สวมเสื้อของพรรคอย่างเดียว จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ เรื่องนี้ตนเทียบเคียงกรณีที่ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ขึ้นเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 โดยสวมเสื้อของพรรค แต่ไม่ได้ปราศรัย จึงอยากให้ กกต.พิจารณา เพราะถ้าการกระทำของนายณัฐวุฒิ เข้าข่ายผิดมาตรา 28, 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคต่อไป
3. ประเด็นสุดท้าย ขอให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงบนเวทีปราศรัย ซึ่งพบฐานข้อมูลว่า มีประชาชนที่สามารถได้รับสิทธินี้ 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท การใช้ถ้อยคำว่างบประมาณกับการหาเสียงในนโยบายดังกล่าว นั่นหมายถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินตามมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการใช้งบประมาณดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะกฎหมายการเงิน การคลัง ไม่สามารถใช้หาเสียงในลักษณะดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เลขาฯ กกต.ต้องรับฟัง ซึ่งการหาเสียงลักษณะนี้ทำเกินกรอบการใช้งบประมาณแผ่นดินหรือไม่
ทั้งนี้ จากตัวเลขที่ใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้าน ที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าเป็นเงินมาจากการจัดเก็บภาษี 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ที่รัฐบาลคำนวณการจัดเก็บภาษีได้เพียง 2.67 แสนล้านบาท แต่ตัวเลขการจัดเก็บภาษีดังกล่าวถูกรวมอยู่ในกรอบการจัดเก็บงบประมาณปี 2567 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่มีเงินเหลือไว้ใช้กับนโยบายดังกล่าวแล้ว
“ผมท้าให้ใครก็ได้มาถกกฎหมายงบประมาณด้วยกัน กางกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กางรัฐธรรมนูญมาถกกัน พวกท่านเป็นกรรมาธิการงบประมาณมา 4 ปี แต่ทำไมถึงตกประเด็นนี้ ข้อมูลที่บอกว่าจะเก็บเพิ่มได้อีกนั้นไม่ใช่ ซึ่งสำนักงบประมาณได้อธิบายเงินที่จ่ายผ่านกระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างๆ เป็นร้อยโครงการ ซึ่งเงินเอาไปใช้หมดแล้ว ดังนั้น กรณีกระเป๋าเงินดิจิทัลจะต้องกลับไปรื้องบประมาณใหม่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รื้องบของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะรื้อได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดเก็บภาษีได้ตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ ผมจึงมองว่า ผิดมาตรา 73(5) เพราะนโยบายดังกล่าวก่อนเงินจะตกไปในกระเป๋าของประชาชน จะต้องผ่านกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลก่อน แล้วหน่วยงานไหนจะใช้เงินดิจิทัลตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียง”