xs
xsm
sm
md
lg

“อิทธิพร” เผย กกต.เลือกสีบัตรเลือกตั้งเขียว- ม่วง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสีพรรคการเมือง ตั้งเป้าลดบัตรเสียเหลือ 1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประธาน กกต.” เผย กกต.เลือกสีบัตรเลือกตั้งเขียว-ม่วง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสีพรรคการเมือง ตั้งเป้าลดบัตรเสียเหลือ 1% ยอมรับบัตร 2 ใบ เป็นงานท้าทาย พร้อมติวเข้ม กปน. ไม่ให้เกิดบัตรเขย่ง

วันนี้ (21 เม.ย.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวถึงบัตรเลือกตั้ง ว่า บัตรมี 2 ประเภท เลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะเป็นสีม่วง ส่วนแบบบัญชีรายชื่อเป็นสีเขียว เรื่องของสีบัตรนั้น มีหลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น 2 สี ก็เพราะเวลาเราพิจารณาสีบัตร กกต.คำนึงถึงสีที่จะไม่ไปซ้ำกับสีที่พรรคการเมืองใช้ ฉะนั้น สีบัตรที่เลือกมาจะไม่มีความเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใดจึงได้เป็น 2 สีนี้

เมื่อถามว่า กรณีบัตรเลือกตั้งที่ต้องมีการอัดแน่นหมายเลขในกระดาษใบเดียวนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่เห็นบัตรตัวอย่างตอนประชุม กกต.ดูแล้วก็ไม่ได้อัดแน่นมาก เพราะถ้ามันเกินจำนวนเราก็จะใช้กระดาษอีกขนาดหนึ่ง ฉะนั้น เราไม่ให้มันอัดแน่นจนตาลายแน่ ถ้าเป็นเรื่องหลักการ หากในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครน้อยคนก็อาจจะเป็นกระดาษขนาดที่เหมาะสม หรือขนาด A4 แต่ถ้ามีจำนวนผู้สมัครเยอะก็อาจจะเป็นกระดาษขนาดที่ใหญ่ขึ้น และบัตรเลือกตั้งที่ทำมาในครั้งนี้ก็เป็นลักษณะบัตรที่ทำมาในทำนองเดียวกับเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่ช่วงนั้นก็จะมีบัตร 2 ใบแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเหมือนกัน คราวนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แก้ไขใหม่ระบุว่า ต้องทำ 2 อย่างแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ และข้อกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อถามถึงยอดบัตรเสียที่จะเกิดในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายอิทธิพร กล่าวว่า ยังตั้งเป้าให้เสียน้อยที่สุด คือ ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ได้จะดีใจมาก ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมันเกินเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้มีบัตร 2 ใบเราก็ตระหนักดีว่ามันต่างจากครั้งที่แล้วและก็เป็นความท้าทาย ฉะนั้น กระบวนการที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องนั้นก็ต้องทำให้มากยิ่งขึ้น หวังว่า ถ้ามีการประชาสัมพันธ์อย่างหนักแน่นแล้วจะช่วยลดความสับสนและเรื่องบัตรเสียได้ และหน้าหน่วยเลือกตั้งเองก็จะมีบอร์ดประชาสัมพันธ์เป็นข้อมูลเบื้องต้น นอกเหนือจากประวัติของผู้สมัครแล้ว เช่น ข้อควรที่ต้องระวังไม่ไปถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่กาแล้ว อย่านำบัตรเลือกตั้งออกนอกหน่วย อย่าทำให้บัตรชำรุด

ส่วนปัญหาจำนวนผู้ใช้สิทธิกับจำนวนบัตรออกเสียงเลือกตั้งไม่ตรงกัน หรือบัตรเขย่งก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ และทราบดีว่าประชาชนให้ความสนใจ บัตรเขย่งปี 62 นั้น ตามข้อมูลที่เรามีเขย่งไป 8 หน่วยเลือกตั้งจาก 92,320 หน่วย ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่ถึง 0.01 แต่นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะไม่พยายามทำให้มันไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้เรามีการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) อย่างเข้มข้นว่าสิ่งที่พึงปฏิบัติไม่ให้เกิดบัตรเขย่งทำอย่างไร ตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นในครั้งเลือกตั้งกรุงเทพมหานครปี 65 ไม่มีบัตรเขย่งเลย ดังนั้น ครั้งนี้เราก็หวังว่าจะไม่มีบัตรเขย่ง หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น