xs
xsm
sm
md
lg

พท.ติดหล่มเงินดิจิทัล ยิ่งแจงยิ่งงง-งบพุ่ง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

ขณะที่หลายพรรคกำลังตื่นตัวเรื่องราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลานี้ และกำลังนำมาใช้หาเสียงกันอย่างออกรส แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเวลานี้จากเดิมที่เคยคิดว่ากำลังรุกไปข้างหน้ากับการออกนโยบายที่ถูกวิจารณ์ว่า “ประชานิยม” สุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท

แต่ที่ฮือฮาและถูกพูดถึงล่าสุดกลับเป็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล หัวละ 1 หมื่นบาท ให้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป โดย ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรคได้ระบุว่า แจกให้ทุกคน ไม่ว่าเศรษฐีแสนล้านไปจนถึงยาจก อ้างว่าเพื่อความเท่าเทียมเสมอภาค โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้จ่ายภายใน 6 เดือน และอยู่ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร

ก่อนหน้านี้มีการระบุตัวเลขจากจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีสิทธิ์รับแจกเงินราว 54 ล้านคน ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5.4 แสนล้านบาท และที่ผ่านมาทางพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาจากไหนกันแน่ และที่สำคัญ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าคำชี้แจงของแต่ละคนในพรรคเพื่อไทยก็ไม่ตรงกันนัก

อย่างไรก็ดีการออกนโยบายของพรรคการเมือง หากเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้เงินงบประมาณก็ต้องมีการชี้แจงที่มาของเงิน จำนวนเงินที่ต้องใช้ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งพรรคเพื่อไทย ก็ต้องชี้แจงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามกฎหมาย เรียกว่าเป็นไฟต์บังคับ เลี่ยงไม่ได้

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงกรณีการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่พรรคการเมืองต้องส่งให้ กกต.นั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ส่งเอกสารชี้แจงมาแล้วทั้งสิ้น 60 หน้า โดยนโยบายที่เป็นที่จับตาถึงที่มาของเงินมากที่สุดคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

เอกสารชี้แจงของพรรคเพื่อไทยทั้ง 60 หน้า จะมีการกล่าวอ้างถึงนโยบายดังกล่าวซ้ำถึง 3 ส่วน แต่จะมีรายละเอียดมากที่สุดอยู่ที่หน้า 59 โดยระบุ ชื่อนโยบายว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีวงเงินที่ต้องใช้ 560,000 ล้านบาท

พรรคเพื่อไทยชี้แจงที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ โดยระบุว่า จากการบริหารระบบงบประมาณและภาษี ประกอบด้วย 1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท 2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยยังระบุด้วยว่า สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

สำหรับความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบายนั้น พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า ประชาชนได้รับเงินดิจิทัลก้นถุง ที่มีเงื่อนไขเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการกระตุ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เกิดเงินหมุนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเท่าเทียม และขยายตัวสูงกว่าเม็ดเงินที่ใช้

ประชาชนทุกคนมีกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อมาตรการทางการคลังในอนาคต เพราะสามารถใส่โปรแกรมเพื่อระบุเงื่อนไขไปในเงินดิจิทัลได้ ทำให้มาตรการทางการคลังมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเทศเข้าสู่ระบบการเงินรูปแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อรองรับการเปลี่ยนของระบบการเงินโลก
ภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์ จากกำลังซื้อประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงในทุกพื้นที่

ส่วนผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายนั้น พรรค พท.ชี้แจงว่า สามารถยกระดับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับการขับเคลื่อนจากนโยบายด้านอื่นๆ ของพรรค เพื่อสร้าวการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระระยาว ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่างบประมาณที่ใช้ เกิดการกระจายตัวของเม็ดเงินในระดับชุมชนทั่วประเทศพร้อมกับ สร้างเงินหมุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า นี่คือการรายงานแบบฉบับย่อที่เน้นให้เห็นเฉพาะสาระสำคัญ แต่ก็ทำให้เห็นว่าแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหมื่นบาทนั้น ตามรายงานในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ต้องใช้เงินงบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ส่วนที่มาของเงินนั้น ส่วนหนึ่งก็จะเอามาจากเงินงบประมาณที่เป็นเงินที่ประมาณการรายได้จากการเก็บภาษีในปัจจุบันที่คาดว่าจะเก็บได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ที่เหลือก็จะนำมาจากการโยกงบ มาจากโครงการอื่นๆ เช่น งบกลาง งบลับ รวมไปถึงงบจากกระทรวงต่างๆ และที่สำคัญยังมีแนวโน้มชัดเจนที่จะตัดงบที่เกี่ยวกับ “สวัสดิการ” ที่เคยจ่าย หรือกำลังจ่ายอยู่ในเวลานี้ เช่น บัตรสวัสดิการ เป็นต้น

ขณะเดียวกันที่น่าสนใจก็คือ มีการพูดถึงความคาดหวังในอนาคต เช่น การเก็บภาษีได้เพิ่ม อันเนื่องมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายดังกล่าว

เอาเป็นว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล งบประมาณที่คาดว่าจะนำมาใช้ได้จริงก็คือ งบประมาณการณ์จากการจัดเก็บรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.6 แสนล้านบาท หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตในไตรมาสแรกหลังจากฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตโควิด ส่วนเงินที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านบาทนั้น เป็นเรื่องคาดหวังเอาข้างหน้า หรือหากใช้ได้จริงก็อาจจะมาจากการตัดงบของหน่วยงานต่างๆ ก็อีกราวไม่กี่หมื่นล้านอาจแค่ 3 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีเพิ่ม

สรุปแล้วการหาเงินมาจ่ายเงินดิจิทัลหัวละหมื่นบาทที่คาดว่าต้องใช้งบราว 5.6 แสนล้านบาทนั้น เมื่อเทียบกับคำชี้แจงแล้ว ส่วนใหญ่มันก็เหมือนกับการ “คิดไปหาเงินไป” เป็นการหาเงินเอาข้างหน้า เพราะเงินที่หากว่าจะใช้ได้ทันทีก็เพียงแค่ 2.6 แสนล้านบาท ที่คาดว่ามาจากการจัดเก็บรายได้เพิ่ม ส่วนที่เหลืออีกราวสามแสนล้านบาทยังเป็นเรื่องอนาคต คาเดาไม่ได้ แต่ในโครงการ งานนี้ต้องมีรายการยกเลิก “บัตรสวัสดิการ” ที่มีอยู่ในลิสต์แน่นอน เหมือนกับว่ายิ่งแจง ยิ่งงง ยิ่งมีคำถามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น