มกอช. ร่วมหารืออาเซียน พัฒนาระบบแจ้งเตือน ARASFF ให้ทันสมัย มุ่งสร้างความโปร่งใสและความเข้มแข็งด้านการควบคุมความปลอดภัยอาหารในภูมิภาค
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้นายสัญชัย ตันตยาภรณ์ ที่ปรึกษา มกอช. เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุม ARASFF Steering Committee ครั้งที่ 8 และ ARASFF National Focal Points ครั้งที่ 10 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศเข้าร่วมประชุม และมีผู้แทนกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองควบคุมมาตรฐาน มกอช. เป็นคณะผู้แทนไทย ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์อาเซียน (ARASFF) เป็นเครื่องมือรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ซึ่งประเทศไทยโดย มกอช. เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ และไทยได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับการใช้งานระบบแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนมาโดยตลอด สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ดูแลระบบได้รายงานผลการใช้งานระบบ ARASFF ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งระบบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศที่มีการแจ้งเตือนมากที่สุดคือมาเลเซีย 283 รายการ ไทย 67 รายการ อินโดนีเซีย 33 รายการ สิงคโปร์ 31 รายการ และฟิลิปปินส์ 1 รายการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าของแผนปฏิบัติงานภายใต้ ARASFF ซึ่งไทยในฐานะผู้ดูแลระบบได้นำเสนอความสำเร็จในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบแจ้งเตือนของไทยและระบบอาเซียน เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อน และข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูล โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งรูปแบบการเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นต้นแบบให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำไปใช้ในการเชื่อมโยงระบบแจ้งเตือนของแต่ละประเทศกับ ARASFF เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานระบบต่อไป
นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลการแจ้งเตือนในระบบบางส่วนสู่สาธารณะ เช่น ชนิดของสินค้า อันตรายที่พบ และประเทศต้นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้บริโภค สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัวด้านความปลอดภัยอาหารมากขึ้น เป็นการยกระดับความตระหนักรู้ด้านสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตอบรับข้อเสนอฝ่ายไทย และจะหารือแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการพัฒนาระบบ ARASFF ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก และรวดเร็วมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประเทศสมาชิกในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ โดยไทยในฐานะผู้ดูระบบจะต้องจัดทำร่างแผนการพัฒนา และปรับปรุงระบบต่อไป
ในด้านการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติงานฯ ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะขยายอายุของแผนปฏิบัติงานฯ ฉบับปัจจุบันออกไปจนถึงปี 2569 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้นำเสนอร่างโครงการสัมมนาด้านระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพ และความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตร และอาหารของอาเซียนตลอดห่วงโซ่ โดยอาจขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศต่อไป
"อย่างไรก็ดี ไทยได้ขอให้สมาชิกอาเซียนเพิ่มการแจ้งเตือนข้อมูลในระบบ ARASFF อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ตลอดจนร่วมกันผลักดันให้การแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียนเป็นภาคบังคับ ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารอย่างครบถ้วน และชัดเจน สามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ตามหลักความโปร่งใสของ WTO/SPS รวมทั้งสามารถนำข้อมูลในภาพรวมไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยอาหารภายในประเทศ และในภูมิภาคได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ”เลขาธิการ มกอช. กล่าว