“ดร.อานนท์” สรุป 7 ข้อ การใช้ภาษาในหนังสือ “ล้มเจ้า” สำนวน “ดัดจริตประดิษฐ์วาทกรรม-ย้อมสี-มีกลิ่นไอซ้ายและตะวันตก-ตรรกะวิปลาส” คล้ายกันทุกเล่ม จนชวนสงสัยว่า มี “ghost writer”? ของสำนักพิมพ์ หลังทนอ่านมาเป็นสัปดาห์
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (19 เม.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ว่า
“ขอวิจารณ์การใช้ภาษาในหนังสือวรรณกรรมล้มเจ้าของสำนักพิมพ์ same sky สักหน่อยนะครับ
หนึ่ง สำนวนส่วนใหญ่คล้ายๆ กันทุกเล่ม จนผมรู้สึกว่า มี ghost writer หรือไม่ หรือ บก แก้สำนวนให้คล้ายๆ กันไปหมด
สอง พอฟังการพูดของผู้เขียนบางคน กับการเขียน สำนวนแตกต่างกันมากเหลือเกิน และหลายเล่ม สำนวนในวิทยานิพนธ์ อ่อนด้อยมาก แต่พอมาเป็นหนังสือล้มเจ้า เล่าเรื่องได้ดีขึ้นมากมายมหาศาล สำนวนเปลี่ยนไปจากหลังตีนเป็นหน้ามือ เลยทำให้ผมมั่นใจว่ามี ghost writer ของสำนักพิมพ์อย่างแน่นอน
สาม สำนวนที่ว่าหน้ามือนี้ เป็นสำนวนดัดจริตประดิษฐ์วาทกรรม ใช้คำเยิ่นเย้อฟุ่มเฟือยมาก และใช้ศัพท์หรูหราหมาเห่า จนอ่านแล้วปวดหัวมาก ทำไมต้องพูดยาวๆ วกไปวนมา ทำไมไม่พูดสั้นๆ กระชับ เข้าใจได้ง่ายๆ สำนวนแนวนี้เป็นสำนวนแบบที่ผมคิดว่าได้รับอิทธิพลมาจากการรื้อสร้างของโพสต์โมเดิร์น ทำให้มันต้องประดิษฐ์วาทกรรม ปั้นเรื่องมากมาย ถ้าใช้วิชาย่อความมาเขียนให้ใหม่ จะลดความหนาของหนังสือลงไปได้อย่างน้อยสี่ในห้า หรือจากร้อยหน้าจะเหลือไม่เกินยี่สิบหน้า
สี่ สำนวนใช้คำย้อมสี หรือ hate speech เยอะมาก เพราะต้องการใส่ร้ายป้ายสีเจ้า เลยใช้คำย้อมสี เช่น การขูดรีดส่วนเกิน ศักดินา กษัตริย์กระฎุมพี สารพัดคำย้อมสี หรือ hate speech มีเยอะมากจริงๆ เพื่อสร้างความเกลียดชัง
ห้า สำนวนที่ใช้เป็นสำนวนที่มีกลิ่นไอฝั่งซ้ายและกลิ่นไอตะวันตกสูงมาก ไม่ใช่สำนวนไทยแท้ๆ ที่งดงามแต่อย่างใด ทำให้อ่านแล้วเอียนๆ กลิ่นนมกลิ่นเนยอย่างรุนแรง
หก สำนวนที่ใช้มีปัญหาตรรกะวิปลาสและการเชื่อมโยงที่ไม่ดีและอ่อนด้อยมาก อ่านแล้วมีข้อให้เถียงได้ตลอด ต่อให้เป็นกลางๆ ไม่ได้เป็น royalist ก็จะรู้สึกได้ว่าการใช้ตรรกะ และการอ้างเหตุผลอ่อนมาก
เจ็ด สำนวนพวกนี้บ้าอ้างเชิงอรรถ ใช้การตัดแปะจากเล่มนั้นเล่มนี้ในแนวล้มเจ้าเหมือนๆ กันมาสร้างความน่าเชื่อถือทางวิชาการ แต่ไม่ได้เรียบเรียงเขียนเองด้วยสำนวนตัวเองจากความเข้าใจที่แท้จริง หลายครั้งกลายเป็นงานตัดแปะอ้างเชิงอรรถที่ต้องถือได้ว่าได้รับรางวัลตัดต่อยอดแย่
เอาเท่านี้ก่อนครับ อ่านมาเป็นสัปดาห์แล้ว รู้สึกว่าควรไปอ่านภาษาไทยชั้นดีจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรืออ่านภาษาไทยสำนวนของศาสตราจารย์ธานินท์ กรัยวิเชียร อันเป็นแบบอย่างชั้นดีในการเขียนงานวิชาการด้วยภาษาไทยอันดีเยี่ยมได้ เพื่อให้ภาษาของเราเอง ไม่วิปริต วิปลาสไปตามงานหนังสือล้มเจ้าพวกนี้”