ครม. เห็นชอบ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม รมว.กค. และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน หรือ AFMGM ครั้งที่ 9 เผยผลสำเร็จและคืบหน้าหลายด้าน พร้อมเสนอ กกต. ชี้ ไม่ผูกพันต่อ “ครม.” ชุดต่อไป
วันนี้ (18 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม รมว.กค. และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรอง โดยสาระสำคัญของ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการสรุปผลการประชุมในด้านต่างๆ เช่น ความคืบหน้าทางด้านเศรษฐกิจและความท้าทายเชิงนโยบาย ความร่วมมือทางสาธารณสุข และการคลัง ความมั่นคงทางอาหาร การบูรณาการและการเปิดเสรีทางการเงิน การอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยงด้านการเงิน บริการ และการชำระเงิน และการบริการด้านการเงินอย่างยั่งยืน
ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ อยู่บนหลักการพื้นฐานของการเป็นประชาคมอาเซียน คือ การส่งเสริมความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือระหว่างกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภูมิภาคอาเซียน และการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) แสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ในการร่วมกันขับเคลื่อน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ยินดีต่อความสำเร็จและความคืบหน้าในการดำเนินงาน ของคณะทำงานรายสาขาภายใต้กรอบการประชุม AFMM และกรอบการประชุม AFMGM ในด้านต่างๆ เช่น
(1) ด้านการรวมตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน เช่น การลงนามร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน ฉบับที่ 9 ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนลงนามในพิธีสารดังกล่าวแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย สรุปผลการเจรจาปรับปรุงภาคผนวกบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง เขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเริ่มการเจรจาด้านบริการทางการเงินภายใต้เขตเสรีการค้าอาเซียน-แคนาดา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการจัดทำพันธกรณีในการเปิดเสรีการค้า บริการด้านการเงินว่าจะเป็นรูปแบบของบทการค้าบริการด้านการเงิน
(2) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน มีความคืบหน้าของคณะทำงานด้านภาษีอากรของอาเซียนในการสร้างเครือข่ายอนุสัญญาภาษีซ้อนแบบทวิภาคี ความคืบหน้าของศุลกากรอาเซียนในการดำเนินโครงการ และข้อริเริ่มตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านศุลกากร ปี 2564-2568 และความคืบหน้าของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ
(3) ด้านความเชื่อมโยงด้านบริการทางการเงินและการชำระเงิน ซึ่งมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการชำระเงินผ่านรหัสคิวอาร์ (QR Code) ข้ามพรมแดนทวิภาคี (การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Code เป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องแลกเงิน และพกพาเงินสดจำนวนมาก เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการชำระเงินของนักท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถเข้าถึงการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในการรับชำระเงิน จากลูกค้าชาวต่างชาติ ช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการชำระเงินเมื่อเทียบกับ การรับชำระเงินด้วยบัตรให้ร้านค้าไทย) และการลงนามในบันทึกความเข้าใจต่อการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน ระดับภูมิภาคของประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย
(4) ด้านการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน มีสนับสนุนกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ACGF) แบบถาวร ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริม และพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อสนองต่อวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 ปี มีการระดมทุนกว่า 1.9 พันล้านบาท ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ภายใต้ ACGF ทั้งสิ้น 8 โครงการ วงเงินกู้รวม 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. รับรอง (1) มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน เวอร์ชัน 2 และ (2) สนับสนุนให้มีการจัดการประชุม AFMGM ปีละ 2 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
3. รับทราบในประเด็นต่างๆ เช่น (1) ความคืบหน้าของการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท จดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนและการเสริมสร้างการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในอาเซียน 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน (5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย + บรูไน) (2) ความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัย เพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติของอาเซียน ระยะที่ 2 และความสำเร็จในการจัดทำรายงานข้อมูลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและข้อมูลความสูญเสียทางเศรษฐกิจรายประเทศ ของ 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ไทย (3) ความสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลและสนับสนุนข้อริเริ่มในการส่งเสริม ความครอบคลุมและการจัดประเภทสินทรัพย์ของอาเซียน (ASEAN Asset Class) สำหรับโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศในอาเซียน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมว่า ร่างแถลงการณ์ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 ไม่เป็นสนธิสัญญา ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของรัฐธรรมนูญ และการให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามนัย ม.169(1) ของรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาทราบ เพื่อแจ้งความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9 ต่อไป