xs
xsm
sm
md
lg

อธิบายชัดๆ “ธีระชัย” ชี้ เพื่อไทยแจก 1 หมื่น ไม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมีการวางแผนแม่บทกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติและใช้บทบาท “เงินดิจิทัลของชาติ” ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมพร้อมรับมือเงินดิจิทัลระดับสากล ส่วน “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” ที่ออกโดยเอกชน เพื่อแจกเงิน 10,000 บาท ไม่ใช่เงินดิจิทัลของชาติ ไม่สามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อย่างแท้จริง

วันที่ 17 เม.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ
10,000 บาท ทำได้จริงหรือไม่? (3) เพื่อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท มีรายละเอียดระบุว่า โครงการ 10,000 บาท ไม่สามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อย่างแท้จริง

ถามว่า เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมีอย่างไร?

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล มีหลายระดับ
***ระดับพื้นฐานต่ำสุด คือเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานต่างๆ ซึ่งก็คือการนำธุรกรรมไปลงบัญชี เรียกว่า Ledger

ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Ledger ทุกคนจะสามารถเข้าไปดูรายการที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด จึงมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ

และเนื่องจากรายการที่เกิดขึ้น แต่ละบล็อกนำมาต่อกันเป็นเชน แก้ไขย้อนหลังไม่ได้ จึงมีความปลอดภัยสูง

ตัวอย่างเช่น
บล็อกเชนที่ใช้ควบคุมซัพพลายอาหาร ถ้าอาหารมาถึงปลายทางปรากฏว่ามีสารปนเปื้อน ก็จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันที ว่าจุดเริ่มต้นอาหารนี้ผลิตที่ไหน

บล็อกเชนที่ใช้ทางการแพทย์ สำหรับข้อมูลที่เก็บไว้ที่โรงพยาบาลหนึ่ง ถ้าคนไข้เข้าโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง คนไข้จะสามารถอนุญาตให้โรงพยาบาลที่สองเข้าไปดูข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องยื่นขอข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล

บล็อกเชนของหน่วยราชการ สำหรับข้อมูลที่ประชาชนยื่นขออนุญาตบางอย่าง หรือได้รับอนุญาตบางอย่าง หน่วยราชการอื่นสามารถเข้ามาร่วมใช้ได้อย่างสะดวก

บล็อกเชนถึงแม้ในระดับพื้นฐานต่ำสุด ซึ่งเน้นการนำธุรกรรมไปลงบัญชี Ledger เช่นนี้ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการทำงาน และเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนหรือภาครัฐสามารถพัฒนากันได้เอง

บล็อกเชนระดับต่ำนี้ ไม่มีปัญหาว่าเป็นเงินตราหรือไม่

*** ระดับสูงที่ก่อ financial disruption
นโยบายเงินดิจิทัล ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงนั้น จะต้องก่อ financial disruption เช่น

- ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมเงินกับผู้กู้เงิน
โดยให้ Fintech แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง และทำให้ผู้กู้เงินมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม

- ต้องทำให้ค่าบริการ counter service ต่ำลง เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างจังหวัดให้ต่ำลง

- ต้องทำให้ค่าบริการโอนเงินข้ามพรมแดนสำหรับเงินจำนวนเล็ก ต้องต่ำลง และการโอนเกิดขึ้นรวดเร็วขึ้นกว่าปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ มีกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องวางแผนรับมือด้านเงินดิจิทัล เช่น

***เงินดิจิทัลของ IMF
รูป 1-3 ข่าววันที่ 17 เมษายน ทาง IMF จับมือกับ Digital Currency Monetary Authority (DCMA) ประกาศจัดตั้งเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง
ตั้งชื่อว่า Universal Monetary Unit (UMU) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Unicoin






ตรงนี้เป็นข่าวใหญ่ ที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ให้ความสำคัญ แต่กำลังจะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลหลายประเทศ

DCMA ประกาศว่า ได้ออกแบบไว้ให้ธนาคารกลางผู้ใช้ Unicoin สามารถจะนำเอาข้อมูลจากระบบโอนเงินธนาคาร swift มาแนบใส่ไว้ได้

และมีแผนจะทดลองใช้ Unicoin ในอินเดีย แอฟริกา และ จีน โดยจะเร่งจัดสัมมนาใหญ่ในอินเดียและแอฟริกาเพื่อจูงใจธนาคารกลางประเทศต่างๆ

เรื่องนี้ต้องย้อนประวัติไปก่อนหน้าสงครามยูเครน
จีนต้องการให้มีสกุลเงินสากล ที่เป็นอิสระแหวกออกจากกรงเล็บอินทรีสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ

จีนจึงได้เชิญ DCMA ไปร่วมหารือ เพื่อจะขอให้จัดสร้างเงินดิจิทัลที่จะแทนสกุลดอลล่าร์

แต่เห็นได้ชัดว่า โมเดลเงินดิจิทัลที่ DCMA ออกแบบมานั้น หนีไม่พ้นที่จะเข้าไปอยู่ใต้ปีกของระบบตะวันตก

ดังเห็นได้จากการเปิดให้เอาข้อมูลจากระบบโอนเงินธนาคาร swift มาใส่ไว้

ดังนั้น โมเดลเงินดิจิทัลตัวนี้ รัฐบาลหน้าจึงต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง เพราะอาจจะเป็นม้าไม้แห่งทรอย

*** เงินดิจิทัลของจีน
รัฐบาลหน้าจะต้องเร่งพัฒนาการค้าขายกับผู้ซื้อระดับรายบุคคลในจีน ผ่านแอพต่างๆ ของจีน เช่น Alibaba Tencent เป็นต้น

รวมไปถึงควรคิดอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถมาใช้เงินดิจิทัลหยวนในประเทศไทยได้อย่างสะดวก

รัฐบาลหน้าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับดิจิทัลหยวน

*** เงินดิจิทัลของ BRICS
ประเทศกลุ่ม BRICS มีแนวโน้มจะเร่งการพัฒนาเงินดิจิทัล เพื่อหนีออกจากระบบดอลลาร์

ซึ่งเงินนี้อาจจะหนุนหลังด้วยทองคำหรือแร่ธาตุมีค่าอื่น

รัฐบาลหน้าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับเงินดิจิทัลของ BRICS

*** อย่างไรก็ดี ในการวางแผนแม่บทกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น จะต้องใช้บทบาทของเงินดิจิทัลจองชาติที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วน “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” ที่ออกโดยเอกชน เพื่อสนับสนุนโครงการ 10,000 บาท นั้น ไม่ใช่เงินดิจิทัลของชาติ

ไม่สามารถจึงต่อยอดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น