xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชี้เงินดิจิทัลเพื่อไทย ทางเทคนิคไม่ยาก แต่ต้องมองรอบด้าน บล็อกเชนเก็บข้อมูลการใช้จ่าย 54 ล้านคน ใครจะได้บริหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้ เงินดิจิทัลเพื่อไทย ทางเทคนิคทำได้ไม่ยาก แต่ต้องมองให้รอบด้าน ทั้งแง่กฎหมาย สังคม การเมือง ชี้ บล็อกเชนจะเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของคน 54 ล้านคน เป็นข้อมูลการตลาดมูลค่ามหาศาล “เศรษฐา” ในฐานะผู้ถือหุ้น “เอ็กซ์สปริง” ย่อมรู้ดี ต้องตอบให้ชัดใครจะเป็นผู้บริหารบล็อกเชน จะให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ และยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท. ข้ออ้างบล็อกเชนปราบทุจริตได้ เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะยังไม่สามารถไปตัดสินการใช้ดุลพินิจของมนุษย์ได้ เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินรัฐบาลให้แก่บริษัทเอกชนผู้รับเหมา หรือผู้ขายสินค้า ผ่านระบบ CBDC คือ “อินทนนท์” ของ ธปท. จะตรวจสอบการรับค่าคอมมิชชันได้ ดังนั้น แทนที่จะโอนเหรียญดิจิทัลเพื่อไทยเข้ากระเป๋า ควรจะหารือกับ ธปท.เพื่อโอนผ่านระบบ “อินทนนท์” แทน

วันที่ 15 เม.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ
10,000 บาท ทำได้จริงหรือไม่? (1) มีรายละเอียดระบุว่า คอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สรุปแง่มุมการเมืองเกี่ยวกับนโยบายนี้ไว้น่าสนใจ รูป 1
“... นโยบายเป็นดาบสองคมเสมอ งานนี้ถ้าเพื่อไทยอธิบายเรื่องของเงินดิจิทัล ได้ไม่ครบทุกซอกทุกมุม รวมทั้งการนำไปปฏิบัติได้จริงแค่ไหน และจะเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร จากบวกก็จะกลายเป็นลบทันที ...”




โครงการนี้ควรเลิกถกเถียงกันได้แล้ว ว่าในด้านเทคนิคสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะงานด้านเทคนิคเป็นเรื่องที่ไม่ยาก


รูป 2-3 เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา คุณโดม เจริญยศ โปรแกรมเมอร์สายบล็อกเชนชื่อดังของไทย ได้ออกมาโพสต์ Facebook ระบุว่า …เขาได้ทำการออกแบบระบบสำหรับกระเป๋าเงินดิจิทัลที่สามารถใช้ได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร จำนวน 50 ล้านใบ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงทดสอบการใช้งานเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ที่สนใจพิจารณาในโครงการนี้ จึงควรก้าวข้ามประเด็นเทคนิค ไปถกแถลงกันในประเด็นสังคม กฎหมาย และการเมือง จะดีกว่า

***ประเด็น เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
ในเมื่อปัจจุบันมีแอป “เป๋าตัง” ที่ชาวบ้านคุ้นเคยกัน ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถจะโอนเงินเข้าไปได้อยู่แล้ว

ทำไมจึงต้องไปสร้างกระเป๋าตังค์ใหม่?

ทำไมต้องมีการออกโทเคน “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย”? และ

ทำไมต้องควบคุมกระเป๋าดิจิทัลด้วยระบบบล็อกเชน?

ผมเข้าใจว่า วัตถุประสงค์เพื่อที่จะเขียนโปรแกรมให้โทเคนหมดอายุเมื่อครบหกเดือน และให้ใช้เฉพาะภายในรัศมี 4 กิโลเมตร

ในเรื่องระยะเวลาหกเดือนนั้น ถ้าจะควบคุมผ่านแอป “เป๋าตัง” ก็น่าจะไม่ยาก แต่เรื่องรัศมี 4 กิโลเมตร นั้น แอป “เป๋าตัง” หมดสิทธิ์

อย่างไรก็ดี ในเมื่อแจกคนจำนวนมากถึง 54 ล้านคน ผมเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องบังคับรัศมี 4 กิโลเมตร เพราะการใช้เงินจะกระจายตัวไปทั่วประเทศ ไขว้กันไปมาทุกพื้นที่อยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้ามุ่งแต่ประเด็น 4 กิโลเมตร เป็นเหตุผลหลัก ก็เป็นเหตุผลที่อ่อนมาก

แต่ทั้งนี้ ยังมีเหตุผลในเรื่องของข้อมูลอีกด้วย!!!

มีคนส่งข้อความให้ผม ระบุว่า เป็นข้อความที่ “ผลิตโดย พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ สนง.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย จ.น่าน เขต 2 อ.เวียงสา จ.น่าน จำนวน 1 ชุด ตามวันเวลาที่ปรากฏ”


ข้อความดังกล่าว มีลิงก์ไปยัง Facebook ซึ่งปรากฏข้อความตอนหนึ่ง ในรูป 4 “ความแตกต่างของเงินที่รัฐบาลประยุทธ์แจก กับเงินที่รัฐบาลเพื่อไทยแจก คือ ของประยุทธ์ มันเป็นอนาล็อก ควบคุมและบริหารจัดการเส้นทางของเงินไม่ได้ ...

แต่เงินของรัฐบาลเพื่อไทย จะถูกคุมด้วยบล็อกเชน มันสามารถควบคุมการใช้เงินตั้งแต่ต้น ว่าต้องจ่ายจริงซื้อจริง จะใช้วิธีไม่ซื้อของแต่เปลี่ยนเป็นเงินโดยรู้กัน ให้ดอกเบี้ยกับร้านค้าแบบของประยุทธ์ไม่ได้ เพราะบล็อกเชนจะรู้ และไม่จ่ายเงิน

อีกทั้งเงินทุกบาทที่จ่ายชำระสินค้า บล็อกเชนจะตามสายเงิน ว่า วิ่งไปที่ไหนบ้าง และไปจบที่ใครเบิกเป็นเงินสดออกมา เพราะโทเคน มันมีรหัสประจำเหรียญให้ติดตาม นี่คือ ความชาญฉลาดของบล็อกเชน”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การที่บล็อกเชนสามารถติดตามเส้นทางเงินได้ว่า วิ่งไปที่ไหน และไปจบที่ใคร …

นี่เอง ผมจึงเห็นว่า สามารถออกแบบให้บล็อกเชนทำงานควบคู่กับเครื่อง Point of Sale เพื่อเก็บข้อมูลได้ว่า ผู้รับ 10,000 บาทแต่ละคน ใช้จ่ายเมื่อไหร่ ซื้อสินค้าอะไร ซื้อที่ไหน

ข้อมูลทำนองนี้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ทำการตลาดค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในวงกว้าง และน่าจะเป็นข้อมูลมีมูลค่าสูง

ถ้าเปิดให้บริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารบล็อกเชน ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ ก็จะมีปัญหาทั้งด้านความชอบธรรมและด้านกฎหมาย

ผมจึงขอเชิญชวนให้พรรคเปิดเผยแนวคิดต่อสาธารณะ

1. จะให้ใครเป็นผู้บริหารบล็อกเชน?

2. ถ้าบริษัทเอกชนเป็นผู้บริหาร จะล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลได้หรือไม่?

3. ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นบุคคลระดับสูงที่ไม่ต้องการให้บริษัทเอกชนผู้บริหารเจาะลึกในความเป็นส่วนตัว จะทำได้อย่างไร?

4. ถ้าบริษัทเอกชนผู้บริหาร นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางการค้า หรือไปเปิดเผยทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลจะฟ้องร้องได้อย่างไร? เจ้าของข้อมูลจะทราบเรื่องได้อย่างไร?

ต่อมา วันที่ 16 เม.ย. นายธีระชัย โพสต์ข้อความในหัวข้อ 10,000 บาท ทำได้จริงหรือไม่? (2) ระบุว่า โครงการนี้ควรถกแถลงกันในประเด็นสังคม กฎหมาย และการเมือง

***ประเด็น เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแนวทางของอนาคต เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
และไม่ว่าประเทศตะวันตก จะมีการออกกฎระเบียบที่จะกีดกันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร ก็จะไม่สามารถเบรกการพัฒนาได้จริง
เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสามารถในการพลิกแพลงได้หลากหลายกว่าเศรษฐกิจอนาล็อก ต้นทุนของประชาชนจะต่ำกว่า

ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่จะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้น มีให้เลือกหลายโมเดล
***โมเดลเปิดเสรีเงินคริปโทเอกชน
ประเทศที่อนุญาตให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี มักจะใช้โมเดลนี้ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หลายประเทศในยุโรป
มีบางประเทศที่ไปถึงขั้นออกกฏหมายให้เงินคริปโทเอกชน เช่น บิตคอยน์ ถือเป็นเครื่องมือในการชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย ประเทศนี้ คือ เอลซัลวาดอร์

***โมเดลปิดประตูเงินคริปโทเอกชน
จีนไม่เปิดเสรีเงินคริปโทเอกชน แต่มีการออก CBDC ดิจิทัลหยวน อินเดียกำลังจะใช้แนวทางนี้

***โมเดลทางสายกลาง
ไทยยังมีการควบคุมปริวรรตเงินตราอยู่ ไม่ได้เปิดให้เงินไหลเข้าออกเสรี
ธปท. จึงไม่เปิดเสรีเงินคริปโทเอกชน แต่มีการออก CBDC ของ ธปท. คือ อินทนนท์ ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เน้นสำหรับการใช้ภายในประเทศ

ส่วนการที่ปัจจุบัน คนไทยสามารถซื้อเงินคริปโทเอกชน เช่น บิตคอยน์ อีธีเรียม ได้นั้น ธปท. มีวงเงินโดยรวมครอบอยู่ ไม่ใช่ใครอยากจะซื้อเท่าไหร่ก็ได้

ธปท. จะดูปริมาณเงินที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย

ถามว่า เงินคริปโทเอกชน ที่ออกโดยคนไทย เช่น “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” เป็นเงินตรา หรือไม่?

พ.ร.บ. ธปท.มาตรา ๗ ธปท.มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

การดำเนินภารกิจตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

มาตรา ๘ ให้ ธปท. มีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ เพื่อบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
(๖) การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
(๑๑) การกระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ธปท.

ดังนั้น ในความเห็นของผม ธปท.เป็นผู้เดียวที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกเงินตรา ไม่ว่าในรูปกระดาษ หรือในรูปดิจิทัล

และการออกโทเคน “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” ซึ่งมีสภาพแตกต่างจากการออกเป็นคูปองกระดาษ คือ สามารถแลกเปลี่ยนใช้ชำระหนี้ระหว่างกันได้โดยสะดวก นั้น …
ผมเห็นว่ามีเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง

ถามว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะเปิดเสรีเงินคริปโทเอกชนที่ออกโดยคนไทย เช่น “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” หรือยัง?

ระบบนี้มีประเด็นควรพิจารณา 3 แง่มุม

หนึ่ง ข้อมูลส่วนบุคคล
กรณีออกแบบให้บล็อกเชนทำงานควบคู่กับเครื่อง Point of Sale เพื่อเก็บข้อมูลว่า ผู้รับ 10,000 บาทแต่ละคน ใช้จ่ายเมื่อไหร่ ซื้อสินค้าอะไร ซื้อที่ไหน

ข้อมูลทำนองนี้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ทำการตลาดค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในวงกว้าง และน่าจะเป็นข้อมูลมีมูลค่าสูง

บทความในไทยโพสต์ 27 มี.ค. 2566 (https://www.thaipost.net/economy-news/349477/) ซึ่งระบุว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน ในขณะดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ...
เคยให้บริษัทเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 13.03% ในบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (XPG)

ใช้เงินลงทุนไปรวม 1,650 + หุ้นสิทธิ์ 409 = 2,059 ล้านบาท

บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล มีบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล คือ บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด

ดังนั้น คุณเศรษฐา จึงย่อมเข้าใจได้ว่า ธุรกิจที่สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง และรวบรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อน
ย่อมเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าได้สูง!

ถ้ารัฐบาลไทยอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่ง จะคัดเลือกอย่างไร จะปิดกั้นบริษัทเอกชนรายอื่นด้วยหรือไม่

ถ้ารัฐบาลไทยเปิดเสรีเงินคริปโทเอกชน ที่ออกโดยคนไทย นั้น ธปท.จะบริหารปริมาณเงินอย่างไร

สอง ระบบชำระเงินของประเทศ
ประเทศที่ใช้โมเดลเปิดเสรีเงินคริปโทเอกชนนั้น จะปล่อยให้เงินคริปโทเอกชนมีระบบชำระเงินกันเอง
เช่น ถ้าคนอเมริกันจะโอนบิตคอยน์ไปให้คนยุโรป ก็จะใช้ระบบบล็อกเชนของบิตคอยน์นั่นเอง

ถ้าคนอเมริกันจะโอน USDC ให้แก่กัน ก็จะใช้ระบบบล็อกเชนของ USDC นั่นเอง

กรณีที่ประเทศไทยจะพัฒนาระบบบล็อกเชนชำระเงินนั้น ถ้าปล่อยให้บริษัทเอกชนต่างพากันพัฒนาระบบเงินคริปโทของตนเอง เห็นทีจะโกลาหล

และจะเปิดช่องให้มีการโอนเงินเพื่อกิจกรรมผิดกฎหมาย เพื่อการฟอกเงิน หลุดไปจากการกำกับควบคุมของภาครัฐ

สาม การปรามทุจริตภาครัฐ
ผู้ที่สนับสนุนโครงการนี้รายหนึ่ง Promote ว่า
“บล็อกเชน .. จะเป็นการหยุดคอร์รัปชันได้ 100%

บล็อกเชนไม่ได้ใช้กับการเงินอย่างเดียว การจัดซื้อจัดจ้าง การพิพากษาตัดสินคดีของศาล การจับกุมผู้ต้องหาเป็นธรรมหรือไม่

อย่างที่บอกหลายครั้งว่า คำสั่งดิจิทัลทุกชนิด ทั้งการบริหารเงิน และการบริหารอำนาจ มันมีรหัสประจำตัวของมัน ที่จะให้บล็อกเชนเข้าไปติดตาม ตรวจสอบ

และฟ้องให้สาธารณะรับรู้ถึงความไม่ถูกต้องว่า ใครพิพากษาไม่ชอบ หมอคนไหนละเลยคนป่วย นักการเมืองคนไหนพรรคไหนทุจริต ทหารคนไหนได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการซื้ออาวุธ”

ประชาชนฟังแล้วเคลิ้ม!

ผมเห็นว่า ฝันให้ไปถึงขั้นที่บล็อกเชนสามารถฟ้องได้ว่า ใครพิพากษาไม่ชอบ หมอคนไหนละเลยคนป่วย การจับกุมผู้ต้องหาเป็นธรรมหรือไม่ นั้น …

เป็นการฝันลมๆ แล้งๆ ของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานแท้จริง

ก่อนที่โปรโมเตอร์จะตื่นเต้นดีใจไปมากกว่านี้ ผมขอย้ำว่าบล็อกเชนเป็นเพียงการทำให้ข้อมูลโปร่งใส

แต่ไม่สามารถเอาไปใช้ตัดสินการใช้ดุลพินิจของมนุษย์

ส่วนการจะใช้บล็อกเชนเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบว่า นักการเมืองคนไหน พรรคไหน ทหารคนไหน ได้รับค่าคอมมิชชัน นั้น

จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการจ่ายเงินโดยรัฐบาลให้แก่บริษัทเอกชนผู้รับเหมา หรือผู้ขายสินค้านั้น กระทำในระบบ CBDC คือ อินทนนท์ ของ ธปท. เท่านั้น

นี่เอง ผมจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า
การทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศนั้น แทนที่จะโอน “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” เข้าไปในกระเป๋า ควรจะหารือกับ ธปท. เพื่อโอน CBDC คือ อินทนนท์ ของ ธปท. แทน

ในเรื่องนี้ บรรดาคนที่เล่นเงินคริปโทในไทย จะตั้งความหวังให้ข้อเสนอของพรรค เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความพร้อมในด้านเทคนิคซอฟต์แวร์นั้น ทำให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

แต่ผู้ที่กำหนดนโยบายสำหรับประเทศ จำเป็นจะต้องมองให้ครบถ้วนรอบด้าน ทุกแง่ทุกมุม เสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น