อุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่า “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง สวนกลับ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. กรณีแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อไทย เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยจากองค์กรใด
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 จากกรณีนายแสวง บุณมี เลขาธิการ กกต.กล่าวถึง นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า “นโยบายที่จะต้องใช้งบประมาณขอชี้แจงก่อนว่า นโยบายสัญญาว่าจะให้ เพราะถ้าเป็นสัญญาว่าจะให้ จะมีเส้นแบ่งของนโยบายตามแนวทาง กกต.และคำพิพากษาของศาล คือ 1.เรื่องนั้นคนที่ทำมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ เช่น รัฐบาล หรือ อบจ. 2.ใช้งบประมาณแผ่นดิน และ 3.ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ นี่คือ นโยบาย ส่วนจะดีหรือไม่ดี ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ส่วน กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรม ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม อย่าเอาคนออกจากสนามเพราะคิดว่า กกต.จัดการได้ ต้องต่อสู้กับนโยบาย ส่วนสัญญาว่าจะให้ คือ 1.ไม่มีอำนาจ 2.ใช้เงินส่วนตัว และ 3.ดำเนินการในนามตนเอง ดังนั้น กล้าพูดว่า เรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ นโยบาย เพราะกฎหมายเขียนรับรองไว้....”ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนฉ่า ขึ้นมาทันที
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง โดยได้อธิบายและให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชนที่น่าสนใจว่า ต้องพูดก่อนนะว่า ตนพูดตามข้อกฎหมาย เป็นกลางทุกฝ่าย ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เป็นการให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน เท่าที่ตนได้ติดตามข่าว กรณีการแบ่งแยก ระหว่างนโยบายกับสัญญาว่าจะให้ ที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า “กล้าพูดว่า เรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ นโยบาย เพราะกฎหมายเขียนรับรอง” ตนอ่านข่าวแล้ว งง เลย ผมว่าคุณแสวง เรียนจบกฎหมายมานะ อยู่ กกต.มานาน น่าจะพลิ้วกว่านี้ ตนขอถามว่า ใช้ตรรกะอะไร ข้อกฎหมาย มาตราไหนเขียนรับรองนโยบายเงินดิจิทัล อย่าพยายามตะแบง สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเอง ระดับเลขาธิการ กกต.ตายน้ำตื้นได้อย่างไร คุณไปยืนยันว่า เป็นนโยบายที่กฎหมายเขียนรับรอง ถามว่าเขียนไว้ตรงไหน อย่างไร หากเลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์แบบนี้ เท่ากับรับรองนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าสามารถกระทำได้ ทั้งๆที่ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ผมจะไล่เรียงข้อกฎหมายให้พี่น้องประชาชนฟังว่า ข้อกฎหมาย กรณีสัญญาว่าจะให้ จูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามทั้งผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง ตามความในมาตรา 73 วรรคหนึ่ง(1) แห่ง พรป.ส.ส. 2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเป็นอำนาจของ ประธาน กกต. ไม่ใช่เลขาธิการ กกต. จะให้เณร มาวินิจฉัยแทนหลวงพ่อ เจ้าอาวาสได้อย่างไร ซึ่งมาตรา 10 บัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หมายความว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.อำนาจสูงสุดภายในองค์กรที่วินิจฉัยคือ ประธาน กกต. ไม่ใช่อำนาจ เลขาธิการ กกต. โดยเลขาธิการ มีหน้าที่เสนอ กลั่นกรองเสนอต่อ กกต. ไม่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องร้องเรียน ตนจะยกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับที่แก้ไขใหม่ปี 2566 ระบุชัดว่า ให้เลขาธิการส่งสำนวนการร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง และเสนอสำนวนให้ กกต.วินิจฉัยชี้ขาด หากไม่มีมูลก็ต้องเสนอ กกต. ไม่มีระเบียบใดให้อำนาจเลขาธิการ กกต.วินิจฉัยชี้ขาด ส่วนคำว่า “นโยบาย” กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 4 เป็นบททั่วไป ไม่ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า “นโยบาย”ไว้ ว่ามีความหมายอย่างไร มีขอบขอบเขตเพียงใด โดยมาตรา 57 บัญญัติเพียงว่า การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน ทุกพรรคการเมือง จะต้องปฎิบัติตามมาตรานี้ ส่วนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บัญญัติข้อห้ามมาตรา 73และมีโทษทางอาญา
จุดแตกต่างความคาบเกี่ยวระหว่างนโยบายกับสัญญาว่าจะให้ ตนขอถามนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ว่า เงินดิจิทัล นายแสวงรู้ได้อย่างไรว่า เป็นเงินดิจิทัลสกุลอะไร มีกฎหมายรองรับหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือสอบถามไปหรือยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ คุณแสวงฯ ทราบหรือไม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเงินดิจิทัลไม่สามารถชำระหนี้ แลกเปลี่ยนเงินตราซื้อสินค้าได้ เพราะมีผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ ประชาชนทั่วไปเขาทราบกันถ้วนหน้า เมื่อความปรากฏชัดแล้ว ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กกต.ต้องทำอย่างไร น่าจะทราบ โดยเฉพาะการแจกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ถือเป็นสัญญาว่าจะให้ โดยเฉพาะเข้าข่ายลักษณะการซื้อเสียงล่วงหน้า ท่านต้องตรวจสอบ แต่ไม่ได้มาสัมภาษณ์ว่าไม่ผิด ตรงนี้ ไหนว่า จัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คำว่า สุจริตและเที่ยงธรรม ต้องหมายถึง ความเป็นธรรมทุกพรรคการเมือง ความเป็นธรรมทุกฝ่าย รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรององค์กร กกต. เป็นองค์กรอิสระ องค์กรหนึ่ง การใช้อำนาจตามรัฐธรรม ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง คือ กกต. แต่เลขาธิการ กกต. ตามสัญญาจ้าง เกิดตาม พรป.ว่าด้วย กกต.2560 ใช้งบประมาณรัฐภาษีประชาชนว่าจ้าง ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะกระทำโดยสุจริตเท่านั้น ทำงานให้คุ้มค่าภาษีประชาชนหน่อย ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะให้ความเห็น ท่านต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ต้องอ่านกฎหมายให้เป็น อ่านเกมให้ขาด รู้ทันนักการเมือง อันนี้ เตือนสติคุณแสวงนะ อย่าทำเกินเส้นแบ่งขอบเขตอำนาจของตนเอง ส่งผลกระทบภาพลักษณ์ความเป็นกลางทางการเมือง ประชาชนจะขาดความน่าเชื่อในองค์กร กกต. การเมืองมันเปลี่ยนเพียงข้ามคืนนะ
ประเด็นเรื่องนำเสนอนโยบาย โดยนายแสวงฯ เลขาธิการ กกต. แยก องค์ประกอบว่า 1.เรื่องนั้นคนที่ทำมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ เช่น รัฐบาล หรือ อบจ. 2.ใช้งบประมาณแผ่นดิน และ 3.ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าว คำว่า นโยบาย ไม่ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้ง ต้องอาศัยแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หรือคำพิพากษาศาลฎีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง) นโยบายพรรคการเมืองกับนโยบายสาธารณะมีความแตกต่างกัน นโยบายแจกเงินกับสัญญาว่าจะให้โดยการแจกเงินดิจิทัล คาบเกี่ยวกัน เพียงแต่เส้นแบ่ง 3 ข้อ คุณแสวง พูดไม่หมด ทำให้ประชาชน นักการเมืองหรือพรรคการเมือง สับสนในข้อเท็จจริง นโยบายแจกทั้งหลาย ท่านต้องดูว่าสิ่งที่เสนอมีกฎหมายรองรับหรือไม่ด้วย ไม่ได้ดูเพียง มาตรา 57 แห่งพรรคการเมือง หากไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นไปไม่ได้ เช่น ขายยางพาราบนดาวอังคาร เรียกว่า หาเสียงหลอกลวง ตนจะชี้ช่องเพิ่มเติม เงินดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์รับรองหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อกฎหมาย ตนจะชี้ให้ชัดว่า เงินดิจิทัลไม่สามารถชำระหนี้ภายในราชอาณาจักรไทยได้ ทั้งนโยบายการแจกเงินล่วงหน้า คาบเกี่ยวเข้าข่ายลักษณะการซื้อเสียงล่วงหน้า โดยใช้ทฤษฎีเงื่อนไข คือ ไม่เสนอแจกเงินล่วงหน้า ก็ไม่เลือก เรียกว่า จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คุณจะให้ประชาชนพิจารณาเอาเองว่า นโยบายดีหรือไม่ดี มันคนละเรื่องกัน หากนายแสวงฯเลขาธิการ กกต.ยืนยันว่าทำได้ ตนว่า หลังจากวันนี้ จะมีพรรคการเมือง จะเสนอนโยบายประชานิยมสุดโต่ง แจกเงินดิจิทัล เงินบาท คนละหนึ่งแสน หนึ่งล้านบาท อ้างว่า กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณรัฐ หากเป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะอยู่กันได้อย่างไร ตีความเป็นศรีธนญชัย กกต.รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง ควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในเขียนไว้ มาตรา 224 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ คือ ป้องปรามและแนะนำพรรคการเมืองนั้น ให้ปรับแก้ไขนโยบาย กลับไปดูว่า ให้ประชาชนตัดสินใจเอาเองว่า นโยบายดีหรือไม่ดี เลือกหรือไม่เลือก หากเป็นเลขาธิการ กกต.แบบนี้ ผมว่า กกต.ทำสัญญาจ้าง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มานั่งเป็นเลขาธิการ กกต.จะดีกว่า ใจกล้า บ้าบิ่นดี ตรงไปตรงมา เน้นความถูกต้อง ไม่เน้นความถูกใจ
ส่วนสัญญาว่าจะให้ คือ 1.ไม่มีอำนาจ 2.ใช้เงินส่วนตัว และ 3.ดำเนินการในนามตนเอง “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า ที่คุณแสวงฯเลขาธิการ กกต. ยกองค์ประกอบ 3 ข้อ แนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมาเป็นกรณีของผู้สมัคร ส.ส.ระดับเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะมีผลโดยตรงต่อการยุบพรรค กรณีสัญญาว่าจะให้ เฉพาะองค์ประกอบ ใช้เงินส่วนตัวและดำเนินการในนามตนเอง เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง ไม่มีพรรคการเมืองไหน จะนำเงินส่วนตัวมาเป็นนโยบายพรรคกรณีแจกเงินดิจิทัล ถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษาศาลฎีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง)มาก่อน หากคุณแสวงว่ามี ให้นำสำเนาคำวินิจฉัยชี้ขาด กกต.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษาศาลฎีกา มาตีแผ่ เผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนทราบ จะได้ไม่เคลือบแคลงสงสัย เพราะพรรคการเมืองแจกเงินล่วงหน้า ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ส่วนนโยบายเพิ่มเงินบัตรต่างๆ ของพรรคการเมืองอื่น ซึ่งปรากฎมีอยู่แล้วก่อนเลือกตั้ง เทียบเคียงกันไม่ได้ ทั้งเล็งเห็นได้ว่า การแจกเงินดิจิทัล ต้องใช้งบประมาณของรัฐ เป็นเงินส่วนตัวตรงไหน ให้พี่น้องประชาชนย้อนกลับไปดูนโยบายจำนำข้าว ใช้เงินส่วนตัวหรือเงินรัฐภาษีของพี่น้องประชาชนล่ะ ยังติดตามเงินคืนรัฐยังไม่ครบถ้วนเลย รัฐเสียหายเพียงใด แถมเผ่นแน่บหนีไปต่างประเทศ ดังนั้น ที่คุณแสวง เลขาธิการ กกต.ยกองค์ประกอบสัญญาว่าจะให้ เป็นเพียงองค์ประกอบของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ที่เป็นนิติบุคคล เป็นคนละเรื่องกัน แต่พยายามโชว์เหนือให้เป็นเรื่องเดียวกัน ประชาชนเขาจับพิรุธได้และจับไต๋ได้ จะเสียภาพลักษณ์องค์กร กกต.