xs
xsm
sm
md
lg

กต. กับการเตรียมความพร้อมสู่การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ก็มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ หรือหากมีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศชั่วคราว ก็ไม่พลาดการเลือกตั้ง

คนไทยในต่างประเทศสามารถขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหน่วยงานหลักในภารกิจสำคัญนี้ โดยมีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 94 แห่งทั่วโลกเป็นเสมือน “คูหาเลือกตั้ง”

วิธีการเลือกตั้งตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สนง. กกต.) กำหนด มี ๓ วิธี ได้แก่ (๑) แบบคูหา ซึ่งจะจัดที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ (๒) ทางไปรษณีย์ ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีระบบไปรษณีย์ที่มีประสิทธิภาพ และ (๓) วิธีอื่น ๆ เช่น การจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงพี่น้องคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงประเทศในเขตอาณาซึ่งสถานเอกอัครราชทูตดูแลรับผิดชอบแต่ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ โดยสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่จะพิจารณากำหนดวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศและบริบทของชุมชนไทยในประเทศนั้น ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ในประเทศที่คนไทยไปทำงานภาคบริการซึ่งวันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมากและได้หยุดวันธรรมดา ก็จะจัดคูหาเลือกตั้งในวันที่คนไทยส่วนใหญ่หยุดงาน หรืออาจจัดหน่วยเคลื่อนที่ในบริเวณที่มีชุมชนไทยหนาแน่น เช่น ค่ายพักคนงาน ฟาร์มเกษตร วัดไทย เป็นต้น การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ เมษายน - ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่กำหนดวันและวิธีการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ โดยจะมีการเลือกตั้งแบบคูหา ๖๕ แห่ง แบบไปรษณีย์ ๕๘ แห่ง และแบบอื่น ๆ ๒๗ แห่ง

“การดำเนินภารกิจอันสำคัญนี้ กต. เตรียมพร้อมอย่างไร”

เมื่อประเมินเงื่อนเวลาต่าง ๆ จากการเลือกตั้งรอบที่แล้วและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาล เป็นที่ทราบกันดีกว่า รัฐบาลจะอยู่ครบวาระในเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ดังนั้น กต. จึงได้เริ่มวางแผนและเตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงกลางปี ๒๕๖๕ โดยได้หารือและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรมการปกครอง (สำนักบริหารการทะเบียน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตั้งแต่การพัฒนาระบบการลงทะเบียน ลต. นรจ. การแก้ไขระเบียบและการบริหารจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมทั้งแนวทางการจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศและการขนส่งไปยังเขตเลือกตั้งทั้ง ๔๐๐ เขตทั่วประเทศ โดยมีบทเรียนจากการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปี ๒๕๖๒ และข้อเสนอแนะจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในฐานะหน่วยงานด้านหน้าที่ต้องประสานงานกับคนไทยในต่างประเทศโดยตรง

ขณะเดียวกัน กต. ได้เตรียมความพร้อมกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ด้วย เพราะในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา มีการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในปัจจุบันมีทั้งผู้ที่เคยจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมาแล้ว และผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ โดย กต. ร่วมกับ สนง. กกต. ได้จัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ๒ ครั้ง เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตั้งกลุ่มแชทเพื่อตอบคำถามและให้คำปรึกษาแนะนำต่าง ๆ

“อะไรเป็น pain point และรับมืออย่างไร”

ด้วยเครือข่ายสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ๙๔ แห่งในภูมิภาคต่าง ๆ มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งจำนวนและลักษณะของชุมชนไทย โซนเวลา ระยะทาง และบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศที่อาจเป็นทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและข้อจำกัด ดังนั้น การประสานงานและการติดตามสถานะการดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น กรมการกงสุลโดยศูนย์บริหารข้อมูลการกงสุลและสารสนเทศ (Consular Data and Information Centre: CDIC) จึงได้พัฒนา “ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” หรือ “Overseas Voting Monitoring System” เรียกสั้น ๆ ว่า “OVMS” เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์ (web application) ซึ่งใช้งานได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ กต. ใช้ติดตามการดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งในลักษณะ checklist แบบ real time รวมถึงสถานะการขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าบัตรจะขนส่งไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งทั้ง ๔๐๐ เขตในประเทศไทยได้ทันเวลา

สำหรับประเทศที่ห่างไกลหรือมีสถานการณ์พิเศษซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่ง กต. ยังได้เตรียมแผนให้เจ้าหน้าที่ถือถุงเมล์ซึ่งบรรจุบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับมายังประเทศไทยด้วยตนเอง โดยได้ประสานงานกับสายการบินและการท่าอากาศยานอย่างรัดกุมและใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกคะแนนเสียงของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศจะไม่สูญเปล่า

“คนไทยในต่างประเทศตื่นตัวเพียงใดในการเลือกตั้งครั้งนี้”

การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปีนี้ สนง. กกต. กำหนดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม - ๙ เมษายน ๒๕๖๖ โดยมียอดลงทะเบียนจำนวนทั้งหมด ๑๑๕,๑๓๙ ราย ซึ่งประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากและลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากที่สุด ๕ อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลีย (๑๙,๘๓๐ ราย) สหรัฐฯ (๑๕,๑๙๐ ราย) สหราชอาณาจักร (๗,๔๙๕ ราย) ญี่ปุ่น (๗,๔๑๔ ราย) และเยอรมนี (๕,๙๕๔ ราย)

ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
กรมการกงสุล
๑๒ เมษายน ๒๕๖๖



กำลังโหลดความคิดเห็น