xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้ว! คลิปหาเสียง รทสช.“ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” ชู “บัตรลุงตู่” ข่มเงินดิจิทัล พท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รทสช.เผยแพร่คลิปหาเสียงตัวใหม่ “ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” ชู “บัตรลุงตู่” ใช้บัตรประชาชนเป็นดิจิทัลวอลเล็ต เติมเงินเจาะจงถึงผู้มีรายได้น้อยทุกเดือน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่ารถ รวมมากกว่าปีละ 10,000 บาท ใช้ได้ทั่วประเทศ ข่มเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นของเพื่อไทย ที่หว่านแจกทุกคน แต่ใช้ได้แค่ 4 กม.จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

วันนี้ (12 เม.ย.) พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เผยแพร่คลิปวิดิโอหาเสียงล่าสุด เรื่อง “ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” เป็นแคมเปญหาเสียงด้านนโยบายเศรษฐกิจภายใต้สโลแกน “หาเงินได้ ใช้เงินเป็น” ชิ้นแรก

คลิปวิดิโอ “ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” เป็นเรื่องราวของบัตรสวัสดิการพลัส หรือ บัตรลุงตู่ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยของพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อยอดโครงการบัตรสวันดิการแห่งรัฐ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นช่องทางให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงความช่วยเหลือแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีตัวกลางหักหัวคิว

โครงการบัตรสวัสดิการพลัส ใช้บัตรประชาชนอัจฉริยะ เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล เพิ่มสิทธิให้ผู้มีสิทธิเป็นเดือนละ 1,000 บาท เป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ค่ารถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถ บขส. ค่าไฟ ค่าน้ำประปา ค่าแก๊ส ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมเดือนละ 1,200 บาท ผู้มีสิทธิสามารถซื้อสินค้าได้จากร้านธงฟ้า 84,712 ร้าน ทั่วประเทศ


บัตรสวัสดิการพลัส หรือ บัตรลุงตู่ เป็นโครงการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า เฉพาะกลุ่ม โดยใช้ถังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กดาต้า” กลั่นกรองผู้มีรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยทุกปีจะมีการทบทวน ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ

พรรครวมไทยสร้างชาติจะออกคลิปหาเสียงของทีมเศรษฐกิจในสโลแกน“ หาเงินได้ ใช้เงินเป็น” อีกหลายเรื่อง หลังเทศกาลสงกรานต์ เช่น เรื่อง “เฉดจ๋า” ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้คนตัวเล็ก

ทั้งนี้ คลิปวิดีโอเรื่อง “ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาทโดยให้ใช้จ่ายได้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทำเบียนบ้าน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 5.4 แสนล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น