“แก้วสรร” ฟาด “แจกเงินดิจิทัล : สินบนเลือกตั้ง???” หรือแค่นโยบายงี่เง่าโดยสุจริตเท่านั้น “กกต.” ต้องไต่สวนให้ละเอียด “อดีตผู้ว่าการ ธปท.” เศร้าใจ นโยบายหาเสียงไม่รับผิดชอบ สร้างหนี้ ชี้ ช่วงโควิดต้องพยุงเศรษฐกิจ แต่ปีหน้าไม่จำเป็น
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 เม.ย. 66) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ ออกบทความเรื่อง “แจก “เงินดิจิทัล” : สินบนเลือกตั้ง???” ในรูปแบบถาม-ตอบ มีเนื้อหาว่า
“ถาม : “เงินดิจิทัล” หนึ่งหมื่นบาท ที่เพื่อไทยประกาศจะแจกให้ทุกคนนั้น มันเป็น “นโยบาย” หรือ “สินบนเลือกตั้ง”
ตอบ : ตามความเข้าใจของผมนั้น “เงินดิจิทัล” ของเพื่อไทย ก็คล้ายกับคูปอง ที่เราต้องซื้อเวลาไปศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า ซื้อมาแล้วก็ใช้ได้แต่ซื้ออาหารในศูนย์นั้นเท่านั้น
เงินดิจิทัลที่เพื่อไทยจะแจกก็เหมือนกัน คือแจกให้ทุกคนที่อยู่ในเขตชุมชนรัศมี 4 กิโล ให้ได้คูปองไปซื้อหาสินค้าในวงสี่กิโลเมตรนี้ได้ โดยเขาอ้างว่า นี่คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสี่กิโลเมตร ใครขายของได้เงินดิจิทัลหรือคูปองนี้มา ก็เอามาขึ้นเงินจากงบประมาณแผ่นดินได้ในที่สุด โดยทั้งหมดนี้ต้องยุติใน 6 เดือน
ถาม : โครงการทั้งแผ่นดิน ให้สิทธิผู้คนถึง 55 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านอย่างนี้ บริหารจัดการได้อย่างไร
ตอบ : ก็ทำได้โดยอาศัยระบบออนไลน์ ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะนั่นแหละครับ
ถาม : มันต่างจากเงินที่ได้เปล่าอื่นๆ สมัย นายกฯตู่อย่างไร ?
ตอบ : มันมุ่งจ่ายเมื่อมีธุรกรรมซื้อขายเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่จ่ายคนละครึ่ง เขาจ่ายให้หมดเลย แล้วของเพื่อไทยนั้นจ่ายโดยไม่มีเหตุเศรษฐกิจซบเซา ในช่วงโควิด หรือช่วยคนจนเลย อยู่ดีๆ ก็จ่ายให้ไปซื้อของ อ้างว่ามุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ผู้คนจะรวยหรือจนก็ได้เงินหมด ขอให้เอาไปจับจ่ายในรัศมีสี่กิโลเมตรก็พอแล้ว
ข้อที่มุ่งกระตุ้น “การจับจ่ายในพื้นที่” นี่แหละครับ ที่ทำให้แจกดะทุกคน ทุกหนแห่งเลย
ถาม : ถ้าผมไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แล้วประกาศว่า ชนะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ห้างเดอะมอลล์จะแจกคูปองอาหารให้พี่น้อง 6 เดือนเลย อย่างนี้ผมผิด กฎหมายเลือกตั้งฐานสัญญาว่าจะให้ไหม?
ตอบ : ผิดครับ คุณจะให้เองหรือเดอะมอลล์ให้ ก็ผิดเหมือนกัน
ถาม : ถ้าผิด อย่างนั้นสัญญาว่าชนะเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลจะแจกเงินดิจิตอลให้ทุกคน อย่างนี้ก็ต้องผิดเหมือนกันใช่ไหม?
ตอบ : เขาต้องยกข้อต่อสู้ว่า นี่คือเงินรัฐที่จ่ายตามนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่สินบนซื้อเสียง
ถาม : แจกเงินดื้อๆ แจกทุกคน คนละหมื่นเลย... นี่หรือครับ คือนโยบายสาธารณะ
ตอบ : ก็เขายืนยันนะครับว่า นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ถาม : ช่วยตอบผมหน่อย ถ้าผมอยู่หมู่บ้าน “โนนหมาว้อ” แล้วผมจะเอาเงินดิจิทัลไปซื้ออะไรได้บ้างในรัศมีสี่กิโล จึงจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโนนหมาว้อตามระบบเงินดิจิทัลเพื่อไทย ? ซื้อปลาสด ซื้อผักในตลาด ที่เป็นสินค้าชุมชนจริงๆ อย่างนี้ใช้ระบบเงินดิจิทัลได้หรือไม่ อะไรคือหลักฐานธุรกรรม หรือต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีแวตเท่านั้น ถ้าใช่..แล้วมันกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร เมื่อเงินมันไหลเป็นน้ำเข้า 7/11 หมด
ตอบ : กกต. น่าจะไต่สวนให้ละเอียด ให้ปรากฏออกมาเลยว่า โครงการนี้มันเป็นสินบนเลือกตั้ง หรือเป็นนโยบายที่งี่เง่าโดยสุจริตเท่านั้น” (จากไทยโพสต์)
ขณะเดียวกัน นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนข้อความเรื่องภาระการคลังของการแจกเงิน โดยระบุว่า
“ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไป มีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คน จึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท
ถามว่า จะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน
ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาท ที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษีวีเอที 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริงๆเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะร้านขายของในละแวกบ้าน นอกอาจจะเป็นร้านเล็กๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่าเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่า เงิน 550,000 ล้านบาท สามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น
ดังนั้น ยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆ เป็น 500,000 ล้านบาท เลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่นๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับ 17-18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้นนี้
อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก 500,000 ล้านบาท สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%
เราเคยตั้งเป้าว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว
นโยบายแจกเงินนี้ มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้า คาดว่า เศรษฐกิจจะโตประมาณ 3-4% โดยมีตัวช่วยคือการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา ในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ (ยกเว้นในกรณีจำเป็นอย่างเช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว
กรณีของสิงคโปร์ มีการให้เงินกับประชากรคนละ 600 เหรียญ ตั้งแต่ช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย โดยกำหนดให้ไปเรียน หรือหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันกับวิทยาการใหม่ใหม่ เพื่อจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นโยบายแบบนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการแจกเงินให้ไปใช้จ่าย ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้กันเพลินจนหนี้ครัวเรือนสูงมากเป็นปัญหาต่อเนื่องอยู่แล้ว
เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้ว เศร้าใจค่ะ นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง” (จากไทยโพสต์)