เมืองไทย 360 องศา
กลายเป็นเรื่องฮือฮาไม่น้อยสำหรับนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งประกาศออกมาหมาดๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่าเสียงที่สะท้อนกลับมาส่วนใหญ่จะออกมาในแนวเป็นห่วงเรื่อง “วินัยการคลัง” รวมไปถึงการ “แจกแบบหว่านแห” ไม่เลือกหน้า ไม่เว้น “เจ้าสัว” หรือ “ยาจก” รวมไปถึงธุรกิจของเจ้าสัว ที่ได้รับอานิสงส์ ไปด้วย เพราะเขาบอกว่า“ไม่เลือกแบบเท่าเทียม”
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่เคยนำเสนอนโยบายดังกล่าว ให้รายละเอียดว่า พรรคเพื่อไทยเราคิดใหญ่ทำเป็น จำนวนเงิน 10,000 บาทนั้น เราจะให้เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาทเลย ที่ต้องให้เป็นกระเป๋าตังดิจิทัล ไม่ให้เป็นเงินสด เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เราสามารถจำกัดวิธีการใช้ได้ หากให้เป็นเงินสดก็อาจจะใช้ไปในทางอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น เรื่องของการพนัน ยาเสพติด การใช้หนี้นอกระบบ เทคโนโลยีจะสามารถบอกได้ว่า ไปใช้อะไรบ้าง ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าหากเป็นหนี้สถาบันการเงินจะสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการ หากเป็นความต้องการเราก็จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนระยะเวลาที่ให้ใช้ภายใน 6 เดือนนั้น เพราะต้องการให้มีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายใช้สอยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องให้ความสำคัญ อีกเรื่องคือระยะรัศมีในการใช้ตามบัตรประชาชน 4 กิโลเมตรนั้น หากพื้นที่ไหนที่ไม่มีร้านค้า ก็สามารถขยายระยะทางออกไปได้ ส่วนคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่บัตรประชาชนอยู่ต่างจังหวัด จะสามารถใช้ได้หรือไม่นั้น เราตอบชัดเจนว่าไม่ได้ เพราะเราอยากให้กลับไปใช้เงินที่บ้าน เพื่อที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่ให้มีการมากระจุกตัวที่หัวเมืองอย่างเดียว
“หากภายใน 6 เดือนนั้น ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเลย เงินก็จะหายไป ฉะนั้นคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ให้พี่น้องได้กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ที่ภูมิลำเนา และไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนด้วย”
เมื่อถามว่า มีนักวิชาการมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้ว พร้อมตั้งคำถามว่า เงินมาจากไหน และจะกระทบหนี้สาธารณะของประเทศ นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายนี้จะทำให้ภาครัฐเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น นี่จะตอบคำถามได้ว่า เงินมาจากไหน ยืนยันว่าเม็ดเงินมาจากการจัดสรรงบประมาณ การจัดเก็บภาษี VAT ที่ได้เพิ่มมากขึ้น และการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล รวมทั้งสวัสดิการรัฐ ที่ลดน้อยลง
“ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าประชานิยมสุดโต่ง แต่เป็นความจำเป็นและความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการการช่วยเหลือเวลานี้” นายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณปี 67 ที่ตั้งไว้ 3.35 ล้านล้านบาท ถ้าเป็นรัฐบาล และนำเสนอนโยบายนี้ จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณกระทรวงอื่นๆ อย่างเช่น กระทรวงกลาโหม หรืองบประมาณลงทุนหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 2 แสนล้าน ส่วนงบประมาณอื่นๆนั้น จะต้องดูงบประมาณในส่วนอื่นๆ ไม่ใช่งบประมาณกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ว่าอะไรเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ถามว่า จำนวนเงินที่ได้สามารถนำไปใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าน้ำมัน ได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้ทั้งหมด ยกเว้นซื้อบุหรี่ หรือใช้หนี้นอกระบบ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไปร่วมโครงการได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด ไม่ได้กีดกั้นใครคนใดคนหนึ่ง เราเสมอภาคเท่าเทียม
พอถามว่าคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถใช้ได้ แล้วจะใช้งบประมารณเท่าไร นายเศรษฐา กล่าวว่า จะมีประชาชนกว่า 50 ล้านคนที่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท
แน่นอนว่าไม่ทันขาดคำ ก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาทันทีว่าเสี่ยงต่อการสร้างหนี้ เป็นการทำลายวินัยการคลัง ที่สำคัญยังเป็นการ “หว่านเงิน” แบบไม่เลือกหน้า ซึ่งเชื่อว่าพอเอาเข้าจริง จะต้องโดนวิจารณ์หนักหน่วงแน่ เพราะคนรวยระดับเศรษฐี ก็ได้เงินจำนวนหมื่นบาทนี้ไปด้วย อีกทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ก็จะได้อานิสงส์จากการจับจ่ายซื้อของเต็มๆ เพราะจากการแถลงของ นายเศรษฐา ระบุว่า ไม่ปิดกั้น แบบเปิดกว้างเท่าเทียม
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเสียงวิจารณ์ในเชิงลบส่วนใหญ่ล้วนมากจากฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ซึ่งอาจมองว่าเป็นคู่แข่ง แต่สำหรับบางคนแม้ว่าจะเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็มองในแบบตรงไปตรงมาก็ได้เหมือนกัน เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายของพรรคการเมืองจะต้องชี้แจงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทุกนโยบายหรือไม่ ว่า ไม่ต้องทุกนโยบายบ เพราะบางอย่างเขาพูดไปเองก่อนได้ แต่บางอย่างที่มีข้อสงสัยเข้าข่ายมาตรา ทางกกต. ก็ถามกลับมา เพราะต้องบอก กกต.ถึงแหล่งเงินที่จะใช้ และยอดเงินรวมทั้งหมดที่จะใช้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแล้วนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรายังชี้อะไรไม่ได้ เจ้าของนโยบายต้องชี้แจงกับ กกต.
ถามย้ำว่า ถ้าเจ้าของนโยบายชี้แจงกับนโยบายแล้ว จะต้องออกเป็นกฎหมายใหม่ หรือสามารถเกลี่ยงบประมาณเดิมที่มีอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเขาคิด เขาทำอย่างไร และไม่รู้ว่าเขาเอาเงินมาจากไหน ซึ่งที่ประชุมครม.วันนี้ ได้มีการชี้แจงโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลังว่า งบประมาณปี 67 กำลังออกนั้น หลังจากที่หักงบประจำงบเงินเดือน งบผูกพันและงบใช้จ่ายหนี้เงินกู้ ยังเหลือวงเงินที่มาบริหารจัดการโครงการใดก็ได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท เว้นแต่ว่าถ้าเก็บภาษีได้เพิ่มโดยอัศจรรย์ หรือได้มาโดยวิธีอื่น ยอดเงินทั้งหมดของงบประมาณที่เตรียมไว้ที่ทำเสร็จแล้ว รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาปรับปรุงแน่ และจะจัดการอย่างไรก็จะจัดการกับเงิน 2 แสนล้านบาทนี้
ซักว่า แปลว่า ถ้าเขาจะทำนโยบายโดยใช้เงิน 5 แสนล้านบาท จะต้องกู้มาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ ตนพูดไม่ถูก เพราะไม่รู้
เมื่อถาม หากต้องกู้ก็ต้องนำเข้าสภาฯพิจารณา และหากไม่เห็นด้วย ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความใช่หรือไม่ นายวิษณุ ได้พยักหน้า และกล่าวว่า ไม่เหมือนกับโควิดที่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
สรุปความก็คือ ในงบประมาณปี 67 มีเงินเหลือที่จะนำมาบริหารจัดการตามโครงการต่างๆ ราว 2 แสนล้านบาทเท่านั้น หากต้องใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เหลือก็ต้องกู้ หรือไม่ก็ต้องนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีที่ได้เพิ่มแบบอัศจรรย์ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม ตั้งข้อสังเกต
นอกเหนือจากนี้ ยังต้องเจอกับคำขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขีดเส้นให้พรรคเพื่อไทยต้องชี้แจงถึงที่มาของเงินดังกล่าว และมีจำนวนเท่าใด ภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 18 เมษายนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ส่งหนังสือไปชี้แจง อ้างว่ายังรวบรวมข้อมูลไม่ครบ ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่า เหมือนกับการ “ไปตายเอาดาบหน้า” ยังไม่มีการตกผลึก เป็นความเร่งรีบเป้าหมายเพียงเพื่อ “หาเสียง” เท่านั้น ทำทุกทางหวังจะให้ได้รับเลือกตั้งตามเป้าหมาย
ดังนั้นหากพิจารณาตามนี้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังต้องเจอกับเสียงวิจารณ์แบบหนักข้อขึ้นทุกวัน และการออกนโยบายแบบ “แจกแหลก” แบบนี้มัน “ไม่ขลัง” เหมือนเดิม เพราะหลายคนเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ การสร้างภาระ และที่สำคัญมันดูแล้ว “หมกเม็ด” เหมือนกับเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของบางคนในพรรคที่เคยจุดพลุเรื่องเงินดิจิทัล ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป้าหมายก็พุ่งตรงไปที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นั่นแหละ!!