"เจาะเกมเลือกตั้ง" เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันที่ 10 เมษายน 2566 นำเสนอตอน วิบากกรรมเพื่อไทย “ชลน่าน” ซวยด้วย "จำลอง" เขต 7 นนทบุรี ขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.
งานเข้าซะแล้ว เต็งจ๋าแชมป์เลือกตั้งอย่าง พรรคเพื่อไทย ที่พลาดอย่างไม่น่าเชื่อ
จากกรณีส่ง นายจำลอง ขำสา เป็นผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 7 ของพรรค แต่ปรากฎว่า ไม่ผ่านด่าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อตรวจสอบคุณสมบัตินายจำลองแล้วพบว่า ไม่ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมื่อไม่กี่เดือนก่อน
เป็นเหตุทำให้ นายจำลอง ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยอ้างว่า สาเหตุเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงเขต และผู้สมัคร รายชื่อของ นายจำลอง จึงไม่ปรากฏในขณะที่พรรคตรวจสอบ
เมื่อเกิดปัญหา พรรคเพื่อไทย ก็ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” จัดแจงประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร และกระบวนการไพรมารีเป็นการด่วน
ก่อนเสนอรายชื่อ นายภูดิศ นนทพิมลชัย นักธุรกิจซื้อขายที่ดิน นักสะสมพระชื่อดัง และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางบัวทอง เป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 จ.นนทบุรี แทนที่ นายจำลอง
แม้ว่าจะเติมเต็มผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตครบ 400 เขตได้ทันเวลาปิดรับสมัคร แต่กรณี นายจำลอง ไม่น่าจะจบง่ายๆ แค่การเปลี่ยนตัวผู้สมัคร
ด้วยทั้งตัว “ผู้สมัคร” และ “หัวหน้าพรรค” ที่เซ็นรับรองการส่งผู้สมัครก็มีสิทธิ์ที่ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
โดยก่อนหน้านี้มีหลายกรณีจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีการดำเนินคดีอาญากับผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ รวมถึงผู้ที่มีอำนาจรับรอง ตามมาตรา 151 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ ตามมาตรา 151 ได้กำหนดโทษ ของผู้ที่รู้ว่าตนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครไว้ว่าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
ซึ่งโทษดังกล่าวหมายรวมไปถึงหัวหน้าพรรคผู้เซ็นรับรองด้วย เพราะการส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งที่รู้ว่า “ขาดคุณสมบัติ”
เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในการร่วมกระทำความผิด และมาตรา 86 กรณีช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ตลอดจน มาตรา 137 ในฐานะแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ที่มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่เป็นข่าวใหญ่ เช่น กรณี นายสิระ เจนจาคะ ที่เคยต้องโทษจำคุกก่อนลงสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ครั้งนั้นมีการยื่นคำร้องให้ดำเนินคดีกับ นายสิระ และ นายอุตตม สาวนายน ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่รับรองการส่งนายสิระ ลงสมัคร
แต่กรณี นายอุตตม นั้น มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนผันการใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จึงรอดตัว เหลือนายสิระที่ถูกดำเนินคดีอาญาเพียงคนเดียว
ต่างจากการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ ที่ไม่มีคำสั่งผ่อนผันการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากว่ากันตามเนื้อผ้า ทั้ง นายจำลอง และ นพ.ชลน่าน ก็เสี่ยงมากที่จะรอดโทษทางอาญา
กลายเป็นวิบากกรรมของ “หมอชลน่าน” ที่ไม่เพียงไม่ถึงฝั่งฝันได้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย แต่ยังต้องมามีปัญหากรณีส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติครั้งนี้อีก.
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1