xs
xsm
sm
md
lg

“พระเนติวิทย์” หลีกเลี่ยง-ขัดขืน ไม่มาเกณฑ์ทหาร โทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร มาตรา 27

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พระเนติวิทย์” หลีกเลี่ยง-ขัดขืน ไม่มาเกณฑ์ทหาร โทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร มาตรา 27 ส่งนายอำเภอร้องทุกข์กล่าวโทษ

วันนี้ (9 เม.ย.) รายงายข่าวแจ้งว่า กรณี พระจรณสมปัณโณ หรือ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2566 หรือ จับใบดำ-ใบแดง ที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลเทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ สื่อมวลชนได้ทราบข่าวจากแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ของพระเนติวิทย์ มีเนื้อหาสรุปว่า

เนื่องจากพระเนติวิทย์ มีกิจธุระเนื่องด้วยการสอบพระบาลีประโยค 1-3 ผ่านวิชาแปล แต่ไม่ผ่านวิชาไวยากรณ์ และจะเข้าสอบซ่อมใน 15-16 เมษายน 2566 จึงขอเวลาทำกิจนี้ให้สำเร็จก่อน และขอเวลาเตรียมตัว เพื่อลาสิกขาภายในสิ้นเดือนเมษายน 2566

แหล่งข่าวจาก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ระบุว่า หากพระเนติวิทย์ ไม่เดินทางมาวันนี้ ก็จะส่งต่อให้นายอำเภอ ในฐานะเป็นผู้ออกมาเรียก ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือ มอบหมายให้ผู้แทนไปดำเนินการ

กรณีถ้ารับหมายเรียกแล้วไม่มา การพิจารณาพิพากษาก็อยู่ที่ศาล ศาลอาจจะตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา หรือตัดสินจำคุกแล้วรอลงอาญา ก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาล กรณีของพระเนติวิทย์ผิดแน่นอน เนื่องจากว่ารับหมายเรียกแล้วไม่มา มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27 ระบุว่า ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น โดยนำใบสำคัญทหารกองเกินบัตรประจำตัวประชาชนและประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วยถ้าไม่มาหรือมา แต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือกหรือว่าไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ ให้ถือว่าทหารกองเกินนั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเว้นแต่

1. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการสำคัญยิ่งหรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง

2. นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชาณต่างประเทศตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการหรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรับหรือการสงครามอันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม

4. บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม

5. เกิดจากเหตุสุดวิสัย

6. ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น

7. ป่วยไม่สามารถจะมาได้โดยให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก

ส่วนกรณีที่ไม่ได้รับหมายเรียก จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“แต่กรณีของพระเนติวิทย์ มีการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารมาแล้ว เพราะฉะนั้นการผ่อนผันก็จะมอบหมายเรียกในปีถัดไปให้ในวันที้เกณฑ์ทหาร เพราะในกฎหมายมันมีอยู่แล้ว เพราะหมายเรียกที่รับไป ก็มีรายละเอียด ระบุ วันเวลา สถานที่ตรวจเลือกให้มารายงานตัว ถ้าไม่มาก็มีคำเตือน รวมถึงโทษ ระบุไว้ชัดเจน

เมื่อถามว่า กรณีที่บวชเป็นพระ มีการเรียนเปรียญธรรมเก้าประโยค หรือเรียนนักธรรม แล้วสามารถนำมาเป็นข้อยกเว้น และต้องมีการแจ้งทางสัสดีก่อนล่วงหน้าที่จะมีการตรวจเลือกทหารใช่หรือไม่

แหล่งข่าว นรด. ระบุว่า ใช่ การบวชไม่สามารถนำมากล่าวอ้างไม่มาเกณฑ์ทหาร การเป็นนักธรรม มีสิทธิได้รับการยกเว้นตามกฎหมายก็จริง แต่กรณีที่ว่าได้เปรียญเท่าไร ยังไม่อยู่ในข่าย เพราะฉะนั้นถ้าหากเป็นเช่นนี้ชายไทยก็ต้องอ้างกันทุกคน บวชแล้วก็ไม่มา

“ถ้าจะอ้างเป็นนักธรรม ไม่เช่นนั้นคนก็ไปบวชหาทางหลีกเลี่ยงกันหมด ซึ่งก็มีกำหนดอยู่ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาอื่น อย่างโต๊ะอิหม่าม ก็จะมีการยกเว้น หรือนักบวชตามศาสนาคริสต์ ถ้าเป็นพระก็ต้องดูว่าอยู่ระดับไหนถึงได้รับการยกเว้น หากบวชเป็นพระทั่วไปคนก็จะไปบวชแล้วก็เอามาอ้างกัน เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงได้”

สำหรับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ มีดังต่อไปนี้

1. พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือ ญวนที่มีสมณศักดิ์ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หมายถึงยศของพระ เช่น เป็นพระครู พระชั้นเทพ หรือ ชั้นธรรม เป็นต้น

ส่วนตำแหน่งของพระ เช่น เป็น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ อย่างนี้เป็นตำแหน่งไม่ใช่สมณศักดิ์ จึงไม่ได้รับการยกเว้น พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ อาจไม่มีตำแหน่งก็ได้

พระภิกษุที่เป็นเปรียญ หมายถึงการศึกษาของพระเช่นเป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยคถึง 9 ประโยค

นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีน หรือญวน ที่มีสมณศักดิ์นั้นหมายถึงผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาเหมือนกันต่างกัน ที่ถือตามนิกายของจีนกับของญวน

นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนต้องมีสมณศักดิ์ด้วยจึงได้รับการยกเว้น

2. คนพิการทุกพลภาพซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้

พระภิกษุสามเณรที่เป็นนักธรรม

พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักธรรมหมายถึงผู้ที่จบนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก เมื่อยื่นเรื่องขอยกเว้นและได้รับการยกเว้น ไม่ต้องไปแสดงตนเข้ารับการตรวจเลือก ถ้ายื่นไม่ทันก่อนการตรวจเลือกฯ จะนำหลักฐานไปยื่นขอรับการยกเว้นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันทำการตรวจเลือกก็ได้ โดยหลักฐานที่ต้องนำไปยื่นต่อนายอำเภอเพื่อขอยกเว้นได้แก่

1. ประกาศนียบัตรจบนักธรรม
2. ใบสำคัญแบบ สด .9
3. หมายเรียกแบบ สด. 35
4. หนังสือรับรองของเจ้าอาวาส
5. หนังสือสุทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น