ครม. รับทราบนโยบายและแนวทางพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เปิด 6 นโยบายย่อย เพื่อส่งเสริมสหกรณ์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก
วันนี้(4 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566- 2570 ) โดยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 6 นโยบายย่อย สรุปได้ ดังนี้
1.พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์สู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี และสร้างวัฒนธรรม แห่งการเรียนรู้ในสหกรณ์
2. ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ เช่น จัดหาและสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับบริบท ของแต่ละประเภทสหกรณ์ และพัฒนาหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ สำหรับบุคลากรสหกรณ์
3. ยกระดับศักยภาพและสมรรถนะการดำเนินธุรกิจตามลักษณะธุรกิจและประเภท ของสหกรณ์ เช่น (1) ธุรกิจด้านการเกษตร สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความหลากหลาย ของสินค้าเกษตร (2) ธุรกิจด้านการเงิน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ ประเภทออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน และ (3) ธุรกิจด้านการบริการ พัฒนาแพลตฟอร์ม และช่องทางการบริการสาหรับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม
4. สร้างการเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น ออกแบบโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ให้มีความเชื่อมโยงด้านธุรกิจและการร่วมมือในการพัฒนา สหกรณ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และควบรวมสหกรณ์หรือ กลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิด การบริหารจัดการที่ดี
5. สร้างธรรมาภิบาลในขบวนการสหกรณ์ เช่น สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และสร้างนวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงรุก ในสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
6. ปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขบวนการสหกรณ์และภาครัฐเพื่อให้ทันต่อ การเปลี่ยนแปลง เช่น ศึกษา วิจัย และพัฒนาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึง การวิเคราะห์สถานการณในอนาคตของสหกรณ์แต่ละประเภทในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจและการลงทุน
สำหรับสถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์ของไทยมีจำนวน 7,520 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์พบว่ามีปริมาณธุรกิจด้านการให้เงินกู้มากที่สุด ส่วนชุมนุมสหกรณ์มีจำนวน 135 แห่ง ซึ่งมีแนวโน้มแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยมีสัดส่วนปริมาณธุรกิจในการให้บริการรับฝากสูงสุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทั่วไปและสภาพเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 พบว่า สหกรณ์ต้องเผชิญหน้าต่อความท้าทายต่าง ๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจหดตัว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเร่งแก้ปัญหาในกรณีที่พบการไม่สุจริต ซึ่งต้องมีมาตรการลงโทษด้วย