xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแหล่งรายได้ใหม่ อปท. จ่อให้อำนาจ "เก็บภาษีใช้น้ำ" ยกเคสลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างรายได้ปีละ 3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแหล่งรายได้ใหม่ "อปท." ทั่วประเทศ จ่อเสนอ ให้อำนาจ อปท. "จัดเก็บภาษีการใช้ทรัพยากรน้ำ" ยกเคสลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างรายได้สูงสุด 3,000 ล้านบาทต่อปี พ่วงแนวทางบริหาร "จัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย" ด้าน ผู้ว่าฯ กทม. เห็นด้วยจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย ตามหลักการ "เก็บจากปริมาณน้ำดี"

วันนี้ (3 เม.ย.2566) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เห็นชอบในหลักการ

ต่อแนวทางจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2 แนวทาง เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ฯ เสนอ

เป็น "แนวทางการจัดเก็บภาษีจากการใช้ทรัพยากรน้ำ" และ "แนวทางการบริหารจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย" โดยให้ผู้เสนอ ไปจัดทำร่างประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ก.ก.ถ. อนุมัติให้มีการจัดเก็บภาษีจากการใช้ทรัพยากรน้ำ แต่ให้ดูว่ามี ความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานมีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลหรือกรมชลประทานที่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำ

จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ภายหลังให้มีการศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้ท้องถิ่นจากภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีจากทรัพยากรธรรมชาติ

เนื่องจาก อปท. ไม่มีฐานรายได้จากการใช้ทรัพยากรน้ำ ประกอบกับการจัดเก็บค่าใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะได้มีกฎหมายกำหนดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐบางแห่งจัดเก็บได้

และหาก อปท. มีการใช้น้ำ เช่น การผลิตน้ำประปา ก็อาจถูกเรียกเก็บค่าใช้น้ำ

ล่าสุด คณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแนวทางการพัฒนารายได้ท้องถิ่นจากการใช้ทรัพยากรน้ำ (กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่กลอง)

ใช้เครื่องมือ ภาษีอากรและ/หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ "ลุ่มน้ำแม่กลอง"

ประมาณการรายได้จากทรัพยากรน้ำ จากฐานผู้ใช้น้ำรายใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและการจัดสรรข้ามลุ่มน้ำ ตามอัตราค่าน้ำชลประทาน ลบ.ม. ละ 0.50 บาท (50 สตางค์) ที่มีกฎหมายการชลประทานกำหนดไว้ (กำหนดอัตราต่ำสุด)

กับอัตราค่าน้ำชลประทานที่ประมาณการได้จากการประมาณการของการศึกษา ลบ.ม. 2.50 - 3 บาท (กำหนดอัตราสูงสุด)

"พบว่า ค่าใช้น้ำจะสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ประมาณ 500 - 3,000 ล้านบาทต่อปี"

ขณะที่ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดภารกิจให้ อปท. โดยจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นภารกิจที่ไม่มีฐานรายได้ที่จะนำมาใช้บริหารจัดการ

ต้องนำใช้รายจ่ายตามงบประมาณประจำปีของ อปท. และต้องของบประมาณสนับสนุนโดยตรง จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พบว่า ต้นทุนการบริหารจัดการน้ำและที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น ระยะ 1 - 5 ปี อปท. พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มีภาระต้นทุนรวมประมาณ 942 - 2,332 ล้านบาท

ขณะที่ กฎหมายเกี่ยวกับน้ำหลายฉบับ ไม่ได้กำหนดแนวทางการจัดสรรรายได้จากทรัพยากรน้ำให้กับ อปท. ซึ่งไม่มีข้อบัญญัติไว้อย่างชัดเจน และยังไม่มีกระบวนการการจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. ใด ๆ

เช่นกรณีที่ขออนุญาตใช้น้ำชลประทานเพื่อการผลิตน้ำประปาและการขออนุญาตใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีการบริการของการประปาภูมิภาค

ดังนั้น อปท. ที่มีระบบประปาท้องถิ่นขนาดใหญ่ (ไม่รวมประปาหมู่บ้าน) ต้องจ่ายค่าการใช้น้ำให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ประมาณ 162 ล้านบาทต่อปี

ในคราวเดียวกัน ก.ก.ถ. ยังเห็นชอบในหลักการ "แนวทางการบริหารจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย"

โดยเสนอให้ อปท. จัดเตรียมทำข้อตกลงความร่วมมือกับ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บรายได้จากค่าบริการบำบัดน้ำเสีย หรือรายได้อื่นของ อปท.

รวมถึงเสนอขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) พิจารณาการเพิ่มความยืดหยุ่นอัตราการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย และกำหนดแนวทางการให้ อปท. สามารถมอบหมายหรือว่าจ้างหน่วยงานอื่นจัดเก็บค่าบริการน้ำเสียแทน

ทั้งยังขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณากำหนดกฎกระทรวงเพื่อรองรับให้ อปท. สามารถจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียได้

สำหรับหลักการนี้ เป็นการผลักดันให้ อปท. บริหารจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย เป็นค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการค่าบำบัดน้ำเสียในท้องถิ่นของตน

รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการกระจายภาระค่าใช้จ่าย

ในประเด็นนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เห็นด้วยกับ "การจัดเก็บค่าบริการการบำบัดน้ำเสีย" ตามหลักการจะเก็บจากปริมาณน้ำดี

"การประปานครหลวง ต้องนำข้อมูล มาคำนวณเพื่อเก็บค่าน้ำเสีย เพราะ กทม. ไม่ได้ติดตั้งมิเตอร์น้ำเสีย เพราะฉะนั้นการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการจัดเก็บน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และให้การดำเนินการมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้น"

สำหรับการจัดเก็บภาษีน้ำ เมื่อปี 2563 ครม.เห็นชอบ ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อ“ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน”

กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดว่า การใช้น้ำนอกภาคเกษตรกรรมจากทางน้ำชลประทาน จะต้องมีการติดตั้งมาตรวัดน้ำและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

ซึ่งในการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานเป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานได้นั้น จะดำเนินการได้เฉพาะทางน้ำที่มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้เป็นทางน้ำชลประทาน และคิดอัตราภาษีอยู่ที่ “ลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์”

เบื้องต้นประกอบด้วย 13 แหล่งน้ำ โดย สทนช. ยืนยันว่า “การเก็บค่าน้ำชลประทาน" จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น