xs
xsm
sm
md
lg

"เรืองไกร" ชงสอบ "ปกรณ์วุฒิ" 47 ส.ส.ฝ่าฝืนจริยธรรม หลังศาลไม่รับคำร้องแปรญัตติงบเอื้อบริษัท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาชิกพปชร. ร้อง ป.ป.ช. สอบ "ปกรณ์วุฒิ" 47 ส.ส. ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือไม่ หลังศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง แปรญัตติงบเอื้อบริษัท ชี้ควรสอบผู้ร้องอ้างใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือไม่

เมื่อวันที่ (2 เม.ย. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 10/2566 ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของ ส.ส. 47 คน เนื่องจากยื่นคำร้องโดยอ้างใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ไม่ได้แล้วนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวของ ส.ส. ทั้ง 47 คน จะเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรม หรือไม่

นายเรืองไกร ระบุว่า ในข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 10/2566 ลงวันที่ 31 มี.ค. 66 ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และ ส.ส. รวม 47 คน(ผู้ร้อง) ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุผลการพิจารณาไว้ดังนี้

“ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการ เสนอ แปรญัตติ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้รับการพิจารณาเสร็จสิ้น และเป็นกฎหมาย ใช้บังคับแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (7) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย จึงมีเหตุที่ควรตรวจสอบตามมาว่า ผู้ร้องอ้างใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือไม่ เพราะผู้ร้องเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายหรือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หาได้ไม่ กรณีจึงมีเหตุที่ควรขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามมาว่า ส.ส. ทั้ง 47 คน มีการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ข้อ 17 ข้อ 21 หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ข้อ 17 ข้อ 21 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หรือไม่ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง หรือไม่ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ตนได้ขอให้ ป.ป.ช. เรียกคำร้องของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และ ส.ส. รวม 47 คน (ผู้ร้อง) จากศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น