มกอช. เจาะลึกช่องทางการค้า “ส่องโอกาสอเมริกาใต้ ตลาดเสรีที่ท้าทายภาคเกษตรไทย” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความร่วมมือ เปิดโอกาสขยายตลาด วงจรการผลิต และการลงทุนที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคต
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดการสัมมนา “ส่องโอกาสอเมริกาใต้ ตลาดเสรีที่ท้าทายภาคเกษตรไทย” เปิดข้อมูลมิติใหม่เกี่ยวกับตลาดละตินอเมริกาในยุค Post-COVID บนความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและกรอบความตกลงการค้าเสรีที่เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ว่าตลาดละตินอเมริกามีประชากรที่กำลังซื้อใกล้เคียงกับอเมริกาเหนือถึง 400 ล้านคน ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคและความนิยมสินค้าใกล้เคียงกับชาวเอเชียอย่างเกินความคาดหมาย ด้วยสินค้าและโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ทำให้อเมริกาใต้โดยเฉพาะ 5 ประเทศเศรษฐกิจ คือ บราซิล ชิลี เปรู เอกวาดอร์ และอาร์เจนตินา ก้าวเป็นแหล่งทรัพยากรและปัจจัยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของโลก ทั้งในส่วนของสินค้าพืช ปศุสัตว์ ประมง ไปจนถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ และยังมีพัฒนาการที่น่าสนใจทั้งด้านอุตสาหกรรม การจัดทำความตกลงการค้าเสรีและตลาดร่วม เช่น Southern Common Market หรือ MERCOSUL บนพื้นฐานความหลากหลายของวัฒนธรรมและเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ประชากรที่มีทั้งกลุ่มยุโรป เอเชีย ไปจนถึงชนพื้นเมือง ทำให้เป็นโอกาสที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญและขยายช่องทางการค้าที่อาจเป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าว ประกอบด้วย 1. การบรรยายทิศทางการค้าและโอกาสต่อการค้ากับภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยนางสาวจุฬาลักษณ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซันติอาโก และนางสาวพุทธชาติ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล เพื่อวิเคราะห์มุมมองทั้งในฐานะพันธมิตรและคู่แข่งทางการค้า ในส่วนของสินค้าเกษตร อาหาร และพฤติกรรมผู้บริโภค 2. การบรรยายในหัวข้อความสัมพันธ์ของคู่ค้าหลักในเอเชียต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบข้อมูลที่บ่งชี้โอกาสทางการค้าต่อประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพทางการค้า โครงสร้างสภาวะทางสังคมที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนถึงคาดการณ์โอกาสในการเข้าถึงตลาดท่ามกลางปัจจัยความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกันศึกษาและคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจ-การเมือง-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3. การบรรยายโอกาสทางการค้าและส่งออกส่วนประกอบอาหารที่ผู้บริโภคชาวบราซิลให้ความนิยมและผู้ประกอบการไทยอาจมองข้าม โดย Mr. Pedro Norio Egashira นักธุรกิจและเจ้าของร้านอาหารบราซิลในประเทศไทย ซึ่งได้หยิบยกวัตถุดิบพื้นฐานของบราซิลที่พบได้ในไทยและสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ เช่น มันสำปะหลัง (มันห้านาที) และมะม่วงหิมพานต์ในส่วนของผลซึ่งสามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด
และ 4. การบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพของอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล ชิลี เปรู เอกวาดอร์ โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา รวมทั้งกรณีศึกษาสินค้าหรือสถานการณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ความสำเร็จของสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ชิลีต่อตลาดคู่ค้า 100 ประเทศ อุตสาหกรรมกุ้งของเอกวาดอร์ที่ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก และพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนทางการประมงของเปรู โดยนายวรพงศ์ วิไลรัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจและทัศนคติเชิงบวกต่อตลาดอเมริกาใต้ ที่แม้จะมีความท้าทายแต่ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถรองรับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้ รวมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์โอกาสทางการค้า ความร่วมมือทางวิชาการ และความตกลงการค้าเสรีในการส่งออกไปยังประเทศในอเมริกาใต้
“อเมริกาใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งนโยบายทางการค้าที่ให้ความสำคัญต่อการเป็นตลาดเสรี ซึ่งในส่วนของประเทศที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ได้แก่ ชิลี และเปรู ที่เป็นแหล่งทรัพยากรปัจจัยการผลิตที่สำคัญและได้รับการใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีในระดับสูง รวมทั้งหลายประเทศยังมีความพร้อมที่จะพัฒนาขอบข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านการเกษตร ตลอดจนถึงการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญในระดับอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถและความร่วมมือที่เป็นโอกาสต่อการขยายตลาด วงจรการผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคต” เลขาธิการ มกอช. กล่าวๅ