xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ณัฎฐ์” ฟาดเดือด “ชยาวุธ” อธิบดีกรมที่ดิน ที่ดินเป็นที่ดินรัฐ ไม่ใช่ของเอกชน ละเลยหน้าที่ในการเพิกถอนเอกสิทธิ์ที่ดิน ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ดำเนินคดีอาญาได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน ฟาดเดือด“ชยาวุธ”อธิบดีกรมที่ดิน ที่ดินเป็นที่ดินรัฐ ไม่ใช่ของเอกชน ละเลยหน้าที่ในการเพิกถอนเอกสิทธิ์ที่ดิน ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ดำเนินคดีอาญาได้ทันทีไม่ต้องรอให้คดีปกครองถึงที่สุด

วันนี้ (31 มี.ค.)จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 58222566 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง โดยคดีนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือที่ รฟ 1/1911 /2564 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ขอให้อธิบดีที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องที่ 2)ใช้อำนาจตามมาตรา 61วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีในพื้นที่บริเวณดังกล่าว และขอให้กรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 707,595.034 บาท และค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละ 58,966,253 นับถัดจากวันฟ้อง ต่อมาวานนี้ วันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีภาระหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแล รักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ให้สำเร็จลุล่วงตามที่ภารกิจกำหนด โดยผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม มือกฎหมายมหาชน ให้ความเห็นและให้ความรู้กฎหมายมหาชนให้แก่ประชาชนว่า ต้องแยกให้ออกระหว่างที่ดินของรัฐที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับการทำหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน ผมต้องไล่เรียงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบพอสังเขปก่อนเพื่อจะได้เข้าใจและเห็นภาพชัดแจ้ง ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยอ่างศิลา ตำบลเขากระโดง (ปัจจุบันตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์) จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462

โดยกรมรถไฟแผ่นดิน สมัยนั้น ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 คำพิพากษาทั้งสามคดีวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ ทุกท่านเข้าใจนะครับว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของเอกชน บริเวณที่ดินเขากระโดง สถานะความเป็นที่ดินการรถไฟสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ส่วนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินหรือ นส 3 ก.ส่วนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ออกมาบังคับใช้วันที่ 30 พ.ย.2497 โดยยกเลิก พรบ.ออกตราจองชั่วคราวซึ่งประกาศเปลี่ยนนามพระราชบัญญัติเมื่อรัตนโกสินทรศก 124 เป็นพระราชบัญญัติโฉนดตราจองพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน รัตนโกสินทรศก 127 และฉบับเพิ่มเติม ดังนั้น กรมที่ดินจะออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรัฐไม่ได้และเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์อื่น เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินโดยตรง

ถามว่า นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน ไม่ศึกษาข้อกฎหมายบ้างหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นที่สุดแล้ว เป็นที่ดินของรัฐ แต่ปากไว โชว์เหนือ ว่าไม่ได้ละเลย ดูพฤติกรรมการกระทำแล้วกัน เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนังสือที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ขอให้อธิบดีที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด แต่กลับไม่ทำแล้ว พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายบริหารกลับนิ่งเงียบ เป่าสาก ไม่ออกมาจัดการปมที่ดินเขากระโดง เป็นของรัฐ ต่อไปนักการเมืองคนไหน มีอำนาจผูกขาดทางการเมือง จะเอาที่ดินของรัฐไปออกเอกสารสิทธิ์และนำที่ดินไปเป็นสมบัติของตนเองและบริวาร ย่อมกระทำได้

“เคยฟันธงว่า พรรคการเมืองท้องถิ่นบุรีรัมย์ หมอผีเขมรจะเสื่อมเพราะนโยบายกัญชา พี้กัญชาถ้วนหน้า เป็นภัยแก่เด็กและเยาวชน ดอกที่สอง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.กระทรวงคมนาคม ดอกที่สาม เจอปมเขากระโดงไปอีกหนึ่งดอก จอดไม่ต้องแจวไปต่อ แทนที่การรถไฟจะเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์แก่แผ่นดิน แต่กลับเอาที่ดินเขากระโดงไปทำสนามแข่งรถ สนามกีฬาส่วนตัว เก็บผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง แม้คดีที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ผมไม่ได้ชี้ช่องให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แต่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นประโยชน์สาธารณะ

ในแง่มุมมองคดีปกครอง เป็นกฎหมายมหาชน อันแตกต่างจากคดีอาญา คดีแพ่ง เดี๋ยวประชาชนจะบอกว่า “สวนชูวิทย์”ออกมาพูด แต่ที่ดินเขากระโดง เงียบกริบ ไม่ใช่นะครับ ตนกับนายชูวิทย์ฯยืนยันว่าไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวกับนายชูวิทย์ฯ และไม่ให้ให้ท้ายนายชูวิทย์ฯ ที่ดินเขากระโดงมีอาถรรพ์แรงและเป็นที่ดินหลวง ตนต้องแสดงความเสียใจกับนายชนสวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ. สมุทรปราการ ที่เสียชีวิตจากอาการฮีตสโตรกขณะซ้อมแข่งรถในสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ในพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์แรงอาถรรพ์จริงๆ แต่ในคดีปกครองมีประเด็นพิพาทหลักว่า อธิบดีกรมที่ดินละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เชื่อมโยงกับการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยไม่มีประเด็นว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ เพราะคดีแพ่งถึงที่สุดไปแล้ว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ควรขอความเห็น กกต.ในการสั่งย้ายนายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ไปนั่งผู้ตรวจราชการเพราะทำให้กรมที่ดินได้รับความเสียหาย ผมจะฟ้องพี่น้องประชาชนว่า ที่ศาลปกครองสั่งให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกมาทับที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61ภายใน 15 วันนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษา อธิบดีกรมที่ดินจะต้องปฏิบัติตาม แต่การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยคดีปกครองแตกต่างจากคดีแพ่งหรือคดีอาญา ผู้อุทธรณ์จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไม่ได้ ภารกิจของกรมที่ดิน ในการคุ้มครอง ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท และนายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกรมที่ดินให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรง มีหน้าที่โดยตรงตามมาตรา 61 ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่ทำ คำว่า ละเลย หมายถึง มีหน้าที่ กลับไม่ทำส่วนการละเว้น หมายถึง มีหน้าที่โดยทั่วไป แต่ไม่ปฎิบัติหน้าที่ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือการรถไฟฯ

การไม่ตั้งกรรมการสอบสวนสิทธิ์เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินที่ออกโดยทับซ้อนที่ดินการรถไฟ ตรงนี้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยบกพร่อง เพราะการกระทำบกพร่องไม่เป็นความผิด (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 3295/2543) แต่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลหรือเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือการรถไฟ เป็นความผิดมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562 พี่น้องประชาชนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวคำพิพากศาลฎีกา หมายถึง แนวคำวินิจฉัยที่ศาลฎีกาศาลสูงสุดตัดสินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

สามารถอ้างอิงได้พร้อมหลักกฎหมายและพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้น การละเลยต่อหน้าที่ หมายถึง การละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ สรุปภาษาชาวบ้าน คือ มีหน้าที่ แต่ไม่ทำ ผมบอกใบ้ให้ก็ได้ว่า ข้อเท็จจริงความปรากฏโดยชัดแจ้งแล้ว เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ประชาชนกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ทันที โดยไม่ต้องรอคดีปกครองถึงที่สุด อำนาจชั้นสอบสวน หากพนักงานสอบสวนรับคำกล่าวโทษจะต้องส่งสำนวนให้ ปปช.พิจารณา และคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเสนาบดีเจ้ากระทรวงมหาดไทยและบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจโดนหางเลขไปด้วย ขอให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องติดตามที่ดินเขากระโดงที่ดินอาถรรพ์ของรัฐให้กลับคืนแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น