xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” อนุมัติตั้ง “ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” ระดมความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน-ต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กป้อม” อนุมัติตั้ง “ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” ระดมความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน-ต่างประเทศ เน้นให้ความรู้ ลดเสี่ยงภัยคุกคาม หนุน MOU “อุ่นใจไซเบอร์” ให้ความเชื่อมั่น ปชช.

วันนี้ (30 มี.ค) เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม และผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีสถิติการปฎิบัติงานรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ห้วง ต.ค.2565 - ก.พ.2566 จำนวน 694 เหตุการณ์ หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านการเงิน ตามลำดับ มีการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ การแจ้งเตือนและให้คำแนะนำ จำนวน 615 ครั้ง การทดสอบความปลอดภัยระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์ จำนวน 56 หน่วยงาน การดำเนินงานด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่กระทบต่อประชาชนจำนวน 61 เหตุการณ์ และรับทราบรายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และโครงการอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที 17 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ รองรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป


จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ การจัดตั้ง “ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 9(6) และ 42(4) พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 โดยต้องมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปิดช่องว่าง ลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ และเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่าง สกมช. กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 10 สถาบันการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล และการเรียนรู้ หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วประเทศ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”


พล.อ.ประวิตร กล่าวกำชับ สกมช. ให้เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ และช่วยเหลือหน่วยงานที่เกิดเหตุเพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งย้ำ ก.ดีอีเอส ให้กำกับ การดำเนินงาน ให้เป็นไปตามทิศทาง ของ กมช. เพื่อให้การพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของประเทศ เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่น แก่ประชาชน ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น