xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสื่อเดินหน้าสร้างเครือข่ายทางสังคมช่วยปชช.รับมือสื่อไม่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการกองทุนสื่อ เดินหน้าสร้างเครือข่ายทางสังคมมีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันสื่อไม่ดี ห่วงปชช.ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกผ่านเฟคนิวส์ เชื่อหากเข้าถึงสื่อปลอดภัยมากขึ้น

วันนี้ (26 มีนาคม 66)ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในกิจกรรม Lek talk ในหัวข้อ TMF-Inspired ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฯ ครบรอบ 8 ปี จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่าย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมามีกฎหมายที่ชื่อว่าพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีผลบังคับใช้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สิ่งสำคัญเพื่อหวังให้ผู้คนในสังคมสามารถรับมือกับสื่อโดยเฉพาะสื่อในทางลบ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีจำนวนมาก ในปัจจุบันจะพบว่าในสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทและมีประชาชนถูกหลอกลวงผ่านกลุ่มมิจฉาชีพเพิ่มเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการใช้เฟคนิวส์ มาเผยแพร่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ซึ่งท่ามกลางสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายกองทุนจึงมีกลไกในการพยายามเตือนสติและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมและประชาชน

"ถ้าติดตามข้อมูลข่าวสารของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้จักเรา เข้ามาเยี่ยมชม พูดคุย แลกเปลี่ยนหรือดูรายการของกองทุนฯจะไม่ค่อยตกเป็นเหยื่อ"ดร.ธนกร กล่าวย้ำ

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่าการรับมือสื่อไม่ดีถือเป็นความตั้งใจของกองทุนฯและเครือข่ายในการเดินหน้าในการสร้างสื่อน้ำดี ทำให้ 8 ปีจนถึงวันนี้จะเห็นว่ากองทุนฯมีผลงานออกสู่สาธารณะเป็นจำนวนมาก มีการสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายและประชาชน พร้อมกันนี้กองทุนฯมุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อบูรณาการ ประสานงานและรวบรวมข้อมูลเนื้อหาของสื่อในทุกประเภทที่นำมารวมไว้และสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งจะต้องทำให้กองทุนฯเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้และการเรียนรู้ (TMF อะคาเดมี่)

ดร.ธนกร กล่าวว่าอีกประการสำคัญคือการขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายทางสังคมในการรับมือสื่อที่ไม่ดีเพื่อให้สังคมมีสติในการรับสื่อผ่านทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และสุดท้ายคือการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมให้เกิดความเข้มแข็ง
ซึ่งการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกสิ่งสำคัญคือการสร้างคน ซึ่งในปี 2564 ทางกองทุนฯได้ริเริ่มดำเนินโครงการบ่มเพาะต่อเนื่องมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

พร้อมยกตัวอย่างโครงการ 1 อำเภอ 1 เรื่องเล่า ผ่านความเชื่อที่ว่าทุกพื้นที่มีเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องของเยาวชน หลายโครงการเราพยายามสร้างคนทำสื่อ พร้อมทั้งให้โอกาสในการไปศึกษาดูงานในประเทศเกาหลีเพื่อศึกษาวัฒนธรรม การทำงานเพื่อหวังสร้างผู้ผลิตในทุกสาขารวมทั้งร่วมมือกับในทุกวิชาชีพ

ดร.ธนกร ระบุในปีนี้จะมีโครงการความร่วมมือที่ทางกองทุนฯ อยากเห็นผู้ประกาศข่าว ผู้จัดรายการนำเสนอข้อเท็จจริงของข่าวสารที่ไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมองว่าการสร้างคนในองค์กรผลิตสื่อมีความจำเป็นมากวันนี้ กองทุนกำลังดำเนินการอยู่ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก พร้อมกันนี้ยังไปหารือกับสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสร้างหลักสูตรทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับอุดมศึกษา


กำลังโหลดความคิดเห็น