xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจกคู่มือปฏิบัติตัวหลังยุบสภา ปลดป้าย รมต.เลี่ยงขึ้นเวทีห้ามเอ่ยลง ส.ส. รถตำแหน่งไม่ต้องรีบคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ เผย แจกคู่มือข้อปฏิบัติตัวหลังยุบสภาให้ ครม.- ขรก.การเมือง สั่งทุกกระทรวงปลดป้าย รมต.ให้หมด แนะ รมต.ร่วมงานในพื้นที่ได้ แต่เลี่ยงขึ้นเวที ห้ามเอ่ยว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส. ระบุ ขรก.การเมืองยังไม่จำเป็นต้องรีบคืนรถประจำตำแหน่ง

วันนี้ (21 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.38 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีได้ชี้แจงข้อปฏิบัติของ ครม.หลังจากได้มีการประกาศยุบสภา และกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้น ว่า ตนได้นำเรื่องดังกล่าวย้ำในที่ประชุม ครม.ขณะที่มีรัฐมนตรีหลายคนได้สอบถามรายละเอียดในบางข้อด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีบางเรื่องที่ตนชี้แจงได้ แต่ก็มีบางเรื่องที่ตนไม่สามารถชี้แจงได้ แต่ได้รับเพื่อไปสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง

ส่วนสิ่งที่รัฐมนตรีหลายคนสอบถามมา เป็นเรื่องที่มาแต่ละคนเคยมีประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีความเป็นห่วงว่า เวลาไปร่วมงานพิธีบางงาน อาทิ งานแต่งงาน คนที่เป็นรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้รับเชิญให้ขึ้นบนเวทีภายในงาน ขณะที่พิธีกรในงานดังกล่าวได้เอ่ยชื่อและตำแหน่งบุคคลดังกล่าว พร้อมระบุว่าเป็นผู้ลงสมัคร ส.ส.ซึ่งตนได้แนะนำว่า สามารถไปร่วมงานได้ แต่อย่าขึ้นเวที และไม่ควรให้มีการประกาศแนะนำตัว พร้อมกับระบุว่า เป็นผู้ลงสมัคร ส.ส.รวมถึงกรณีการไปลงพื้นที่ตรวจราชการและต้องมีการพบปะประชาชน ซึ่งมีการมากอด หอมแก้ม และมอบดอกไม้ ซึ่งตนได้แจ้งให้ ครม.ทราบว่า กกต.ระบุว่า สามารถรับดอกไม้ได้ แต่อย่าไปพูดตอบอะไรทั้งสิ้น ต้องปฏิบัติตรวจราชการให้เสร็จสิ้น เมื่อเสร็จสิ้นงานราชการตรงนั้นก่อน ค่อยไปพูดคุยกับประชาชนทีหลัง

เมื่อถามว่า ผู้ที่เป็นข้าราชการการเมือง และลงสมัคร ส.ส.สามารถไปร่วมงานพิธีต่างๆ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไปร่วมได้ในฐานะแขกคนหนึ่ง หรือถ้าจะต้องขึ้นกล่าวบนเวทีก็สามารถทำได้ แต่อย่าพูดว่าตนลงสมัคร ส.ส.หรืออย่าพูดว่าอยู่พรรคไหน มีนโยบายอะไร และอย่าพูดแขวะพรรคอื่น

เมื่อถามว่า หลังยุบสภาแล้ว จำเป็นต้องปลดป้ายของหน่วยงานราชการที่มีรูปรัฐมนตรี พร้อมระบุชื่อตำแหน่งออกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในคู่มือที่ได้แจกให้กับ ครม.ในวันนี้ ได้ระบุให้ทุกกระทรวง และหน่วยงานราชการต่างๆ มีการปลดป้ายลักษณะดังกล่าวออกไปให้หมด ขณะเดียวกัน ตนได้อธิบายว่า กกต.ได้มีการชี้แจงเรื่องป้ายหาเสียง ว่า สามารถติดชื่อและรูปผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรคนั้นๆ ได้ หรือจะเป็นรูปผู้สมัครคู่กับผู้ที่จะเป็นว่าที่แคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีในนามพรรคนั้นๆ ได้ หรือจะเป็นรูปคู่กันระหว่างผู้สมัครและผู้ที่เป็นสมาชิกพรรค แต่ห้ามเป็นรูปที่ผู้สมัครติดกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคนั้นๆ นอกจากนี้ กรณีที่เป็นรูปผู้สมัครอยู่คู่กับบุคคลอื่นๆ ก็ไม่ควรระบุตำแหน่งข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำของบุคคลนั้นลงไป โดยรวมแล้วถือว่า อย่าติดป้ายที่ทำให้เห็นว่าใช้ตำแหน่ง หรืออำนาจหน้าที่ในฐานะข้าราชการการเมืองไปหาประโยชน์ในการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า การหาเสียงของผู้สมัครสามารถโยงกับบุคคลอื่นที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคได้หรือไม่ว่า เป็นผู้ที่คิดนโยบายนั้น สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่กล้าตอบเรื่องนี้ แต่ตนคิดว่าถ้าเรื่องนโยบายที่ถูกอ้างถึงเคยเกิดขึ้นจริง และจะนำมาพูดตอนนี้ก็คงไม่เป็นไร เช่น การบอกว่านโยบายเรื่องนี้มาจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจะนำมาต่อยอดในตอนนี้ การพูดลักษณะดังกล่าวไม่เป็นปัญหาอะไร เป็นการอ้างที่มาที่ไป

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ รัฐบาลจะมีการนัดหารือกับ กกต.อีกครั้งหรือไม่ หรือจะรอให้ กกต.แจ้งวันเลือกตั้ง แล้วส่งมาให้รัฐบาลเป็นผู้ประกาศ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการประกาศวันเลือกตั้ง รัฐบาลทำให้อยู่แล้ว ซึ่งคาดว่า จะเป็นวันที่ 22 มีนาคมนี้ ดังนั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนัดหารือกับ กกต.อีก ยกเว้นจะมีคำถามข้อสงสัยจำนวนมากหรือมีเรื่องสำคัญที่ทำให้ต้องนัดหมายให้ กกต.มาพบ

เมื่อถามว่า บุคคลที่เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นข้าราชการการเมือง และมีรถประจำตำแหน่ง จะต้องนำรถดังกล่าวคืนหน่วยงานรัฐหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องส่งคืน เพราะถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นรัฐมนตรี ยังปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ยังคงตำแหน่งราชการการเมืองอยู่ ยังได้รับเงินเดือน ถือว่ายังต้องทำหน้าที่ตรงนั้นอยู่ จึงยังสามารถใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งได้ต่อไป

เมื่อถามอีกว่า หากเป็นการไปลงพื้นที่ตรวจราชการ แล้วต่อด้วยการไปลงพื้นที่หาเสียง สามารถใช้รถประจำตำแหน่งเดินทางต่อได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้ได้ แต่ต้องเติมน้ำมันเอง แต่ที่ให้เป็นกรณีต้องเติมน้ำมันของหลวง เช่น กรณีเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้โดยสารไปตรวจราชการ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการขยายเวลาลงพื้นที่ให้เป็นเวลาเดินทางกลับประมาณ 16.00 น.ได้ แม้จะสามารถใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งเดินทางได้ แต่อย่าออกนอกเส้นทางในการตรวจราชการ

เมื่อถามว่า แม้ตามเงื่อนไขดังกล่าวจะสามารถทำได้ แต่อาจเกิดข้อครหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องระวังเรื่องการถูกตั้งคำถามเรื่องนี้ แต่การไปตรวจราชการ ไม่ได้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไร เพราะเป็นการไปทำหน้าที่ แต่ถ้าพบว่ามีการเอาเปรียบในระกว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการ เช่น ไปตรวจราชการแจกโฉนดที่ดินในจังหวัดหนึ่ง แต่ใช้ยานพาหนะเดียวกันต่อไปอีกจังหวัดหนึ่งเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะถือว่าออกนอกเส้นทาง


กำลังโหลดความคิดเห็น