ชำแหละโพลนิด้า ภท.รั้งท้ายจริงหรือไม่ ย้อนแบ่งเขตพื้นที่แค่ 2 จว.ก็มี ส.ส.ก็เกินกว่าที่โพลระบุ บัญชีรายชื่อก็เช่นกัน แต่ตอนตั้งพรรคก็เยอะกว่าที่โพลคาด ส่วนนายกฯต้องมี 25 เสียงก่อน มีเพียง “อนุทิน-อิ๊ง” ชิงกัน แปลก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ปลิวหายไปไหน
วันนี้ (19 มี.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากผลสำรวจนิด้าโพล ล่าสุด ข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 38.20% นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล 15.75% พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ 15.65% และนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 1.55% ขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ ไม่ติดอันดับใดๆ ของโพล
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต
พรรคเพื่อไทย 49.75% พรรคก้าวไกล 17.40% พรรครวมไทยสร้างชาติ 11.75% พรรคประชาธิปัตย์ 5.40%
พรรคไทยสร้างไทย 2.95% พรรคภูมิใจไทย 2.70% พรรคเสรีรวมไทย 2.60%
ขณะที่ประขาชนส่วนหนึ่งยังไม่ตัดสินใจ 2.35% และพรรคพลังประชารัฐ รั้งท้าย 2.15%
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุด้วยว่า หากมองผลโพลในแบบแบ่งเขต 2.7% ก็เท่ากับมี ส.ส. 11 คน เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะพื้นที่บุรีรัมย์จังหวัดเดียว พื้นที่ของ นายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของพื้นที่เดิม คาดว่า นายอนุทิน น่าจะได้ ส.ส. ถึง 10 คนแล้ว ขณะที่ จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ คาดว่า จะได้ ส.ส. 2 คน ดังนั้น อย่างน้อย 2 จังหวัดนี้ ก็น่าจะได้ ส.ส.ถึง 12 คน แล้ว จึงมากกว่าผลสำรวจที่ปรากฏในโพลดังกล่าว
สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ นั้น พรรคเพื่อไทย 49.85% พรรคก้าวไกล 17.15%
พรรครวมไทยสร้างชาติ 12.15% พรรคประชาธิปัตย์4.95% พรรคเสรีรวมไทย 2.85% พรรคไทยสร้างไทย 2.60% พรรคภูมิใจไทย 2.55% ยังไม่ตัดสินใจ 2.35% พรรคพลังประชารัฐ 2.30% ทั้งนี้ ในส่วนคะแนน ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ผลสำรวจโพลนี้ ระบุว่า แค่ 2% กว่าๆ ที่คาดว่า ได้ ส.ส.ประมาณ 3 คน นั้น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน สมัยที่เพิ่งตั้งพรรคภูมิใจไทย ไม่มีอำนาจรัฐใดๆ อยู่ในช่วงตั้งไข่ ยังได้ ส.ส. 6 คน เท่ากับว่า หากเป็นไปตามโพลนี้ ภท. จะมี ส.ส.13 คน
ส่วนบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ นั้น จะต้องมีเสียง ส.ส. เกิน 25 คน เพื่อเสนอชื่อในรัฐสภา ดังนั้น ทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และ นายกรณ์ จาติกวณิช ค่อนข้างลำบาก ส่วน พลเอก ประยุทธ์ จะได้ถึง 25 ส.ส. หรือไม่ ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะได้ ส.ส.เท่าเดิม และไม่มีเสียงแรงพอที่จะดัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ ได้ ส่วน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โอกาสที่จะเป็นฝ่ายค้าน น่าจะสูงกว่า
ดังนั้น แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี จากการวิเคราะห์เชิงลึกของโพลนี้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน คนที่จะเป็นนายกฯได้ จึงมีเพียง2 คน คือ น.ส.แพทองธาร และ นายอนุทิน ที่คาดกันว่า ภท. น่าจะได้ ส.ส. 80-100 คน
ส่วน พลเอก ประวิตร พปชร. ไม่มีชื่อติดโพลนี้ ขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ ในความเป็นจริง พรรค รทสช.จะได้ ส.ส.ถึง 25 คนหรือไม่ หรืออาจได้ไม่มากนัก แต่ยังห่างจากพรรคอื่น พลเอก ประยุทธ์ จะต่อรอง เป็นนายกฯ โดยหวังเสียง 250 จาก ส.ว. ก็เป็นเรื่องที่ค้านกระแสประชาชนอีก