xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียม” แซะ “เพื่อไทย” โหวต “ยุทธศาสตร์” คือ โหวต “ข้าพเจ้า” “ดร.อานนท์” สงสัยยุบสภา หนีเงื่อนไขย้ายพรรค 90 วัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แซะ “เพื่อไทย” เลือกแบบ “ยุทธศาสตร์” จากแฟ้ม
ตีกินหรือเปล่า? “สมศักดิ์ เจียม” แซะ “เพื่อไทย” โหวต “ยุทธศาสตร์” คือ โหวต “ข้าพเจ้า” ชี้ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่พรรคที่เปิดโปง “ประยุทธ์” มากที่สุด แต่ชอบกลให้เลือกตัวเอง “ดร.อานนท์” สงสัย “ยุบสภา” หนีเงื่อนไขย้ายพรรค 90 วัน?

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 มี.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า

“โหวตทางยุทธศาสตร์” แปลว่า อะไร? ก็แปลว่า โหวตข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าเป็นพรรคเดียวที่มีโอกาสจะเป็นรัฐบาล

พูดกันจริงๆ ถ้านับว่า พรรคไหนตลอด 4 (8) ปี ที่ผ่านมา ออกมาเปิดโปงคัดค้านประยุทธ์ และ 3 ป. คำตอบไม่ใช่พรรคเพื่อไทยแน่นอน พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคที่ออกมาเล่นงานรัฐบาลเรื่องต่างๆ จนเป็นข่าวคราวทางสื่อมวลชนมากที่สุด ถ้าไม่เชื่อลองไล่ดูก็ได้ (ถ้านับ 8 ปีก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่)

แต่พอครบ 4 ปี ก็ให้เลือกเพื่อไทย เพราะเพื่อไทยใหญ่สุด
อย่างนี้มันชอบกล

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ของ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์ข้อความระบุว่า

“ผมมีความสงสัยว่า จะเขียนเหตุผลอย่างไร ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ปิดไปแล้ว ความขัดแย้งอะไรก็จบไปหมดแล้ว กฎหมายอะไรสำคัญที่จะไม่ผ่านก็ไม่ผ่านไปหมดแล้ว ปกติจะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ต้องมีเหตุผลและมีวิกฤติหรือความขัดแย้งพอสมควร

ผมเลยสงสัยในใจว่า จะเขียนเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรว่าอย่างไร ก่อนนำไปขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมเดาว่า อาจารย์วิษณุ เครืองาม คงมีความสามารถมากมายที่จะเขียนเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้

ภาพ ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากแฟ้ม
ที่ต้องยุบสภา ปล่อยให้หมดอายุตามวาระไม่ได้ ก็เพราะเงื่อนไขย้ายพรรค 90 วัน จะไม่ทันกัน นี่ถ้ายุบสภาย้ายพรรคใน 60 วันทำได้ เลยต้องพยายามยุบสภาเพื่อต้อน ส.ส. หรือซื้อ ส.ส. เข้าคอก เข้ามุ้งกันใช่หรือไม่ แต่จะเขียนเหตุผลแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นการทำเพื่อบ้านเมือง

หรือว่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลเล่นใหญ่ รัชดาลัยเธียเตอร์ ประกาศถอนตัวจากการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลมีเหตุผลจะเขียนในการยุบสภาผู้แทนราษฎร

เอาเป็นว่า ผมรอฟังเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรของจริงที่เขียนในพระราชกฤษฎีกาก็แล้วกันครับ จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้นว่าจะให้เหตุผลอย่างไร และจะเขียนว่าอย่างไร”

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามถึงกรณีหลายฝ่ายคาดประกาศยุบสภา วันที่ 20 มีนาคมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการหารือบ้างหรือไม่ ว่า

นายกฯ ไม่ได้หารือ และก็ไม่ทราบ แต่คงหนีไม่พ้น เพราะในวันที่ 23 มี.ค.นี้ ก็หมดเวลาแล้ว จึงพัวพันกันอยู่ในระยะนี้ หรือวันนี้ก็ยุบได้ถ้าจะยุบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ จะเป็นการประชุมในฐานะ ครม.รักษาการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีการประชุมตามปกติ และมีหลายเรื่องที่นายกฯ ลงนามเสนอเรื่องบรรจุวาระเข้าที่ประชุมได้อยู่ คำว่า  ครม.รักษาการเป็นภาษาพูดที่เราเรียกกัน แต่ในทางกฎหมายไม่ได้เรียก เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้แล้วว่า อย่าเรียก เพราะถ้าเรียกจะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งในภาษาราชการไม่ต้องเรียก และในการลงนามหนังสือของรัฐมนตรีไม่ต้องวงเล็บว่า รักษาการ โดยเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยติงไว้แล้ว

เมื่อถามถึงขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องดำเนินการยกร่าง จากนั้นนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป โดยใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว จะระบุชัดว่าให้มีผลวันไหนอย่างไร ขั้นตอนมีอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายกฯ สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน ครม. จึงเป็น พ.ร.ฎ.ฉบับเดียวที่ไม่ต้องผ่าน ครม.

ถามว่า จำเป็นต้องให้นายวิษณุเป็นผู้ตรวจดูรายละเอียดก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ต้องดู ตอนนี้ยังไม่ได้สั่งให้ทำ แต่ร่างนั้นเตรียมไว้แล้ว”...

แน่นอน, นับว่าน่าสนใจทั้งประเด็น พรรคเพื่อไทย ปลุกกระแสประชาชนให้เลือกแบบ “ยุทธศาสตร์” โดยเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ ที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และล้มอำนาจ “3 ป.” รวมทั้งปิดประตูสืบทอดอาจเผด็จการ

เรื่องนี้ พอมีกระแสออกมา ก็มีคำถามตามมาทันควันว่า พรรคก้าวไกล และพรรคอื่น ในฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทยจะยอมได้หรือไม่ และเป็นการใช้ยุทธศาสตร์ที่เห็นแก่ตัวกับพวกเดียวกันเกินไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองพรรค แม้ว่าจะมีส่วนที่แย่งคะแนนเสียงกันอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ทั้งสองพรรคต่างมี “สาวก” หรือ แฟนคลับของตัวเอง จึงยากที่ “ยุทธศาสตร์” นี้จะเป็นจริงและปลุกกระแสสำเร็จ

ส่วนเรื่อง “ยุบสภา” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เอื้อต่อการย้ายพรรคของ ส.ส. หรือไม่

ประเด็น ก็คือ รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 90 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะครบวาระสภา) หรือ 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะยุบสภา) ส่วนบรรดา ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคหรือเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ก็ต้องลาออกจากสมาชิกพรรคเดิมก่อน ซึ่งจะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ความต่างของการยุบสภา หรืออยู่ครบวาระ ตามเงื่อนไขนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องไปที่ “เหตุผล” การ “ยุบสภา” หรือ เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การ “ยุบสภา” คืออะไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น