ผู้มีรายได้น้อยจังหวัดจันทบุรี ขอบคุณรัฐบาลและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี จัดฝึกอบรม พร้อมมอบเครื่องมือทำกินแล้ว ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้คนจนมีงาน มีเงินอย่างยั่งยืน
นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณแล้ว ซึ่งเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลและนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อย มีทักษะความรู้ ความสามารถ และมีเครื่องมือทำมาหากิน เพื่อนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสามารถก้าวผ่านเส้นความยากจนไปได้ ซึ่งโครงการดังกล่าว นอกจากจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ที่มาอบรมระหว่างการฝึกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกจะได้รับเครื่องมือในการประกอบอาชีพตามสาขาอาชีพที่เข้าอบรม มูลค่ารวมต่อคนไม่เกิน 4,000 บาท แต่ละจังหวัดที่ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้วได้เร่งจัดซื้อเครื่องมือเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอย่างเร่งด่วนแล้ว
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี ได้จัดหาเครื่องมือมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในสาขาตัดเย็บเสื้อผ้าแล้ว จำนวน 16 คน ได้รับจักรเย็บผ้าไฟฟ้าแบบกระเป๋าหิ้ว พร้อมอุปกรณ์ คนละ 1 ชุด สำหรับสาขาอื่น ๆ จะทยอยมอบให้ตามลำดับ จังหวัดอื่น ๆ ได้เร่งจัดหาเครื่องมือดังกล่าวตามสาขาอาชีพที่เปิดอบรมเช่นกัน ในการเปิดฝึกแต่ละหลักสูตรนั้นหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้นำชุมชน จัดฝึกอบรมหลักสูตรอาชีพต่าง ๆ โดยใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชม. ระหว่างการฝึกอบรมมีค่าอาหารให้วันละ 120 บาท เป้าหมาย ฝึกทั่วประเทศ 31,500 คน มีผู้ผ่านการฝึกแล้ว 9,099 คน ( ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566)
นางสุนันทา สายดี อายุ 44 ปี เป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า เล่าว่า เดิมประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป แต่มีพื้นฐานการตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่บ้างแล้ว เมื่อทราบข่าวว่ามีการฝึกอบรม และมีเครื่องมือให้ด้วย จึงสนใจเข้ามาฝึกอบรม รู้สึกดีใจมากเพราะหลังจากฝึกจบแล้วสามารถตัดเย็บเสื้อผ้า หมวกและกระเป๋าได้ ปัจจุบันรับตัดเย็บเสื้อผ้าแบบง่าย ๆ และรับซ่อมแซมเสื้อผ้า เป็นรายได้และอาชีพเสริมให้กับตนเอง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าตัดเย็บชำนาญแล้วคิดว่าจะสามารถรับงานตัดเย็บได้มากกว่านี้ จึงขอขอบคุณรัฐบาล สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี กระทรวงแรงงานและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดำเนินการต่าง ๆ ทำให้เรามีทั้งความรู้และมีเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินมาลงทุนซื้อเครื่องมืออีก ช่วยให้เราทำงานได้ทันที "อยากให้มีโครงการแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาชีพอีกจำนวนมาก" นางสุนันทากล่าว