xs
xsm
sm
md
lg

“อรรถวิชช์” โวยแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.สับสน เอื้อบางพรรค ผิด กม.ยึดระเบียบ กกต.ศักดิ์น้อยกว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอง หน.ชพก. โวย กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ทำชาวบ้านสับสน ชี้ รวมแขวงเป็นเขตเลือกตั้ง ถือเป็นการทำผิด กม. เพราะยึดตามระเบียบ กกต.ที่ศักดิ์น้อยกว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง เอื้อบางพรรค ดักทางหากนำมาใช้จะไปยื่นศาล ลั่นสับสนผู้สมัครไม่ต้องลงพื้นที่กันแล้ว ถูกซอยเขตทิ้งหมด

วันนี้ (12 มี.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า แถลงข่าวเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กกต.ได้แบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด 4 รูปแบบ ซึ่งจะหมดเขตในการรับฟังความคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค.) และ กกต. จะประชุมหาข้อสรุปรูปแบบเขตเลือกตั้งในวันที่ 14 มี.ค. 66 ซึ่งตนมองว่า ผิดกฎหมาย เพราะใน 4 แบบที่ กกต.แบ่งเขต รูปแบบที่ 1 และ 2 เป็นการรวมตำบลหรือแขวงเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นการรวมอำเภอ โดยหลักการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 ระบุหลักการสำคัญไว้ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ให้รวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และ 2. ต้องเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน

“การแบ่งเขตแบบรวมแขวงในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Gerrymandering หรือ Salamander คือ มีความลดเลี้ยวเคี้ยวคดเหมือนตัวซาลาแมนเดอร์ มีแขนมีขาเหมือนกิ้งก่า เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เป็นการกำหนดไว้ได้เลยว่าพรรคใดบ้างจะชนะการเลือกตั้งจำนวนเท่าไหร่ ซึ่ง กกต.ก็ทราบเป็นอย่างดี”

นายอรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่ 3 และ 4 เน้นเอาอำเภอเป็นตัวหลัก มีความคล้ายคลึงกับการแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2554 และ 2557 มองว่าเหมาะสมที่สุดจาก 4 รูปแบบที่จะนำมาใช้จริง

“ปี 54 และ 57 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเก่า ตอนนั้น กทม.มี 33 เขตเลือกตั้งเท่าปัจจุบัน เป็นการเลือกตั้งแบบ one man one vote เหมือนกัน บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนกัน กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 27 ระบุไว้ชัดว่าให้คำนึงถึงเขตเลือกตั้งเก่าเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นแบบปี 54 และ 57 ลงตัว ไม่เกิดการแทรกกัน ปี 62 มันรวมแขวงกันเข้ามา แทรกเขตเข้ามาเป็นตัวซาลาแมนเดอร์หรือกิ้งก่าเลย” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ ยกตัวอย่างเขตเลือกตั้งจตุจักรในปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 152,000 คน ส่วนต่าง ส.ส. กับจำนวนราษฎรต้องไม่ห่างเกิน 10% หากแบ่งตามรูปแบบที่ 3 และ 4 ส่วนต่างจะมีแค่ 6% ถือว่าสมบูรณ์แบบ แต่รูปแบบที่ 1 และ 2 เขตจตุจักร จะถูกหั่นออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเอาจากหลักสี่มาบางแขวง อีกส่วนเอาจตุจักรและบางเขนมาบางแขวง รวมเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ 1 เขต แบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย “มันเป็นการเลือกแขวง ไม่ได้แบ่งตามอำเภอ”

“รูปแบบที่ 1 และ 2 เกือบจะ 100% คือ การเอาแขวงมารวมกัน ชัดมากๆว่ามันคือการรวมตำบล หรือแขวงมารวมเป็นเขตเลือกตั้ง ผิดกฎหมายมาตรา 27” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ ย้ำว่า หากดูจาก 4 รูปแบบ รูปแบบที่ 3 เหมาะสมที่สุด แต่หาก กกต.ยืนยันว่ายังจะใช้แบบ 1 และ 2 ตนจะยื่นฟ้องศาลอย่างแน่นอน กกต.จะต้องยึดตามกฎหมายเลือกตั้ง คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

“รูปแบบที่ 1 และ 2 เขายึดตามระเบียบ กกต. ศักดิ์ของกฎหมายต้องยึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งใหญ่กว่า จะเอาระเบียบ กกต.มาเขียนไม่ได้ มันเป็นไปได้อย่างไรครับ แยกแขวงออกมา” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า หากเป็นแบบนี้ ประชาชนจะไปเลือกตั้งกันอย่างไร ถ้า กกต.แบ่งเขตใหม่ทุกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนจะสับสนและความคุ้นชินกับ ส.ส.ในพื้นที่จะไม่เกิด จากนี้ไป ส.ส. ไม่ต้องลงพื้นที่กันแล้ว เพราะเขตตัวเองถูกซอยทิ้งหมด ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน เลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะได้ ส.ส.หน้าใหม่ ดังนั้น ตนขอความเป็นธรรมต่อ กกต.

“อ่านกฎหมายต้องอ่านเหมือนกัน ผมได้เตรียมทีมกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่เหมือนกันก็ไปอยู่ที่ศาล” นายอรรถวิชช์ กล่าว

ด้าน นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.เขตบางซื่อ กล่าวว่า ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรมีการแยกแขวง ทำให้เกิดข้อทักท้วงว่า หาก กกต. เอาแบบที่ 1 และ 2 มาใช้ กกต. ชุดใหญ่เองอาจจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ตนในฐานะผู้สมัครเขตบางซื่อเอง มองว่า อาจจะกระทบต่อการใช้สิทธิ์ของประชาชน เพราะอาจเป็นไปได้ว่าไม่ทราบว่าตัวเองอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น