xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เตือน ครม.อย่าเสี่ยงเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา ผิดหลักนิติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต รมว.คลัง เตือนคณะรัฐมนตรี อย่าเสี่ยงต่อการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และขัดรัฐธรรมนูญ เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวนายกฯ และ พรรค รทสช.

วันนี้ (12 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล1
แสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมจะยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนครบวาระ 4 ปี โดยอ้างอิงถึงเฟซบุ๊ก ของไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายและอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ดังนี้

Facebook ของคุณไพศาล พืชมงคล
[จับตา ครม.จะให้ยุบสภาหรือไม่?

1. รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย “โดยทางคณะรัฐมนตรี” ดังนั้น ในการตราพระราชกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี จึงต้องมีมติให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอรับพระบรมราชโองการให้ทรงตราพระราชฤษฎีกา

2. การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภา ต้อง “ระบุเหตุที่เสนอยุบสภา” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 เหตุที่จะขอเสนอยุบสภา ต้องเป็นเหตุขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาผู้แทนราษฎร จะไปอ้างเหตุอื่นเช่น ตกปลาในอ่างไม่ทัน หรือ กกต. กำหนดการเลือกตั้งไม่ถูกใจ หรือศาลตัดสินให้รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103

3. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้แถลงแล้วว่า “การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาเรื่องยุบสภา” คงเหลือการประชุมคณะรัฐมนตรีอีก 2 ครั้งคือ 14 และ 21 มี.ค. จะต้องติดตามดูกันว่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเรื่องเสนอยุบสภาหรือไม่!!!

ถ้ามีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีข้างมากไม่เห็นด้วย ก็จะยุบสภาไม่ได้ ใครสนับสนุนโดยไม่มีเหตุตามมาตรา 103 ก็ต้องรับกรรมต่อไป!!!!

4. ถ้าไม่มีการยุบสภา รทสช.อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด
เพราะในวันที่หมดกำหนดเวลาสังกัดพรรคเพื่อสมัคร ส.ส.ในวันที่ 6 ก.พ. 66 ตามประกาศ กกต.นั้น อดีต ส.ส.และนักการเมืองยังสมัครเป็นสมาชิก รทสช.น้อยมาก อาจไม่ถึง 15 คนด้วยซ้ำไป

แคนดิเดตนายกของ รทสช.จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกเท!!!!]

ทั้งนี้ นายธีระชัย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
หนึ่ง ถ้าบทวิเคราะห์นี้ถูกต้อง การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเสนอให้มีการยุบสภา ก็จะมิใช่เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยรวม แต่อาจจะเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ของตนเอง และ รทสช.

สอง ในการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น ปกติจะไม่มีการลงคะแนน โดยกรณีที่ถ้ามีเสียงคัดค้าน แม้แต่เพียงเสียงเดียว ที่ประชุมก็จะต้องพิจารณาหาเหตุผลมาหักล้างเสียงคัดค้านนั้นเสียก่อน

การลงมติโดยคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นมติสำคัญ และไม่เป็นเอกฉันท์ คณะรัฐมนตรีก็จะเปลี่ยนจากกลุ่มบุคคลที่บริหารประเทศ ไปเป็นกรรมการห้ามมวย

สาม กรณีที่จะมีการทูลเกล้าร่างพระราชกฤษฎีกาที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม อันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าโดยมติคณะรัฐมนตรี หรือโดย พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการเอง นั้น

“ผมขอแนะนำให้คณะรัฐมนตรีแต่ละคน โปรดพิจารณา อย่าไปทำการใดที่ทำให้เสี่ยงเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” นายธีระชัย ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น