xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระยะ 5 ปี สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระยะ 5 ปี สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ร่วมขับเคลื่อน 9 ภารกิจสำคัญ

วันนี้ (8 มี.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) สำหรับสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งตกลงร่วมส่งเสริมความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ 1) สาขาความเชื่อมโยง 2) สาขาการพัฒนาศักยภาพ ในการผลิต 3) สาขาความร่วมมือทรัพยากรน้ำ 4) สาขาการเกษตร 5) สาขาการลดความยากจน และ 6) สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน สำหรับแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน มีภารกิจสำคัญ 9 ด้าน ดังนี้

1. การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม อาทิ (1) ส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในกระบวนการผลิต (2) จัดตั้งตลาดแม่โขง-ล้านช้างสำหรับสินค้าเกษตร (3) จัดทำแผนความร่วมมือในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (4) การท่องเที่ยวอัจฉริยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง ปรับปรุงระบบศุลกากรผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง

3. โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างภูมิภาค

4. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางการค้าและส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมสำคัญบนพื้นฐานของความเข้มแข็งด้านดิจิทัล

5. เขตเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาคโดยการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย และการขับเคลื่อนการค้าชายแดน

6. การจัดประชุมนิทรรศการ การสร้างแบรนด์แม่โขง-ล้านช้าง และส่งเสริมการพัฒนาเมืองแสดงสินค้านานาชาติ

7. การบ่มเพาะและการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สร้างสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมและการค้าที่เอื้อต่อการเติบโตสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างเวทีความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

8. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย

9. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการเกษตร ด้านการชลประทาน และการใช้ทรัพยากรน้ำ และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการและวิจัยประยุกต์


กำลังโหลดความคิดเห็น