“พล.อ.ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ถก กพย. เล็งไกล ให้ความสำคัญ พลัง “เยาวชน-เอกชน-ภาคีเครือข่าย” ควบคู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน รองรับความท้าทายใหม่ ตั้งเป้าบรรลุ กรอบ UN ปี 2030
วันนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย (Thailand's SDG Roadmap) โดยมีผลการดำเนินการใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การสร้างการตระหนักรู้ 2) ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับแผน 3 ระดับของประเทศ 3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) ภาคีการพัฒนา และ 6) การติดตาม/ประเมินผล
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ในการออกกฎระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อน SEA มีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ เป็นรูปธรรม โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สามารถนำไปดำเนินงานในการจัดทำแผนในทางปฏิบัติได้ อย่างสอดคล้องกัน และเห็นชอบให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานภายใต้ กพย. เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศไทย สามารถตอบสนองและรับมือกับความท้าทายใหม่ รวมทั้งประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในบริบทของทศวรรษการดำเนินการ อย่างจริงจัง ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์, ภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, พลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยตามกรอบ UN
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ คณะทำงานที่ช่วยกันขับเคลื่อนฯที่ผ่านมา พร้อมกำชับ ให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานตามแผนงาน อย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชน เอกชน ที่มีความรู้ความสามารถ เข้าร่วมดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030 ร่วมกับประชาคมโลก โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกต่อไป