มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาถอดบทเรียน “16 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550” เนื่องในโอกาส 8 มีนาฯ วันสตรีสากลโดยนางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ และข่าวจากสื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 มีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 92 ข่าว คิดเป็น 24.7% และยาเสพติด 64 ข่าว คิดเป็น 17.2% จะเห็นว่าสถิติไม่ได้ลดลงเลย โดยเฉพาะการฆ่ากันตายในครอบครัวมีถึง 195 ข่าว คิดเป็น 52.4% ทำร้ายกัน 82 ข่าว คิดเป็น 22% และฆ่าตัวตาย 52 ข่าว คิดเป็น 14% โดยความสัมพันธ์แบบสามีฆ่าภรรยาสูงสุด 57 ข่าว คิดเป็น 63.4% สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวงว่าภรรยานอกใจ 45 ข่าว คิดเป็น 60% ง้อไม่สำเร็จ 11 ข่าว คิดเป็น14.7% วิธีการที่ใช้มากสุดคือปืนยิง 34 ข่าว คิดเป็น 43% ใช้มีดหรือของมีคม 27 ข่าว คิดเป็น 34.2% และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 7 ข่าว คิดเป็น 8.8%
ที่น่าห่วงคือความสัมพันธ์แบบแฟน ซึ่งฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง 27 ข่าว คิดเป็น 65.9% ซึ่งผู้ถูกกระทำจำนวนมากไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้โดยเฉพาะคู่รักนักศึกษา หรือวัยทำงาน ที่ไม่ได้บอกความสัมพันธ์ให้ครอบครัวรับรู้ คิดว่าครอบครัวจะไม่เข้าใจ หรือมองปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาความรุนแรง สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกันโดยจับสัญญาณความรุนแรงในคู่รัก ก่อนทำร้ายร่างกายกันจริงๆ เช่น หึงหวง เพิกเฉย ทำให้อับอาย ควบคุม รุกราน ข่มขู่ พยายามปั่นหัว แบล็คเมล์ หรือตัดขาด เป็นต้น เพื่อหาทางออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอย่างสันติ การปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวเพื่อทำให้ผู้ถูกกระทำตัดสินใจใช้กลไกดังกล่าวในการคุ้มครองสวัสดิภาพตนเองได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ความรักที่ไม่ใช่เจ้าของชีวิต
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฯ ยังมีปัญหาหลายด้าน ที่สำคัญคือเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายที่ให้น้ำหนักกับการรักษาความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มากกว่าที่จะเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำและชัดมากในมาตรา 15 ระบุว่า “ไม่ว่าการพิจารณาคดีฯ จะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ก็ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบปรับให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ” ซึ่งข้อความนี้ กลายเป็นพิมพ์เขียวในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่า แม้จะมีการทำร้ายกันในครอบครัว แต่ต้องพยายามรักษาครอบครัวให้เขาอยู่ด้วยกันต่อไปให้ได้ ผู้ถูกกระทำเลยไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอีกปัญหาคือกฎหมายไม่ได้ออกแบบรองรับให้การทำงานแบบบูรณาการสหวิชาชีพ ซึ่งสำคัญมาก เพราะปัญหามีความซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลเพียงหน่วยเดียว ความร่วมมือจากฝ่ายอื่นจึงเป็นแบบกระท่อนกระแท่น
“อันที่จริงแล้ว หัวใจของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ว่าของประเทศใด ต้องเน้นว่าผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ขั้นพื้นฐานที่สุดคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องคุ้มครองและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิด” ดร. วราภรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ 16 ปีที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่ดี เช่น การให้ใครก็ได้เป็นผู้แจ้งความ และการขยายการนับอายุความ หรือมาตรา 9 ห้ามเสนอข่าวเมื่อเริ่มดำเนินคดี และมาตรา 10 ให้มีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนหรือช่องโหว่มาก ซึ่งถ้าดูตามเจตนารมณ์ คนที่กฎหมายอยากจะคุ้มครองคือผู้ถูกกระทำ แต่การเขียนตัวอักษรไว้ในกฎหมายมาตราต่างๆ นั้นกลับมีปัญหา มุ่งไปที่แนวทางปฏิบัติของรัฐมากกว่า ไม่ได้เอาการคุ้มครองเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงเป็นศูนย์กลาง เช่น ใน 7 บรรทัดแรกเขียนถึงสิ่งที่รัฐต้องทำเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่ในครอบครัว แต่ 3 บรรทัดสุดท้ายกลับลงท้ายว่า “รวมทั้งสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้” เน้นการไกล่เกลี่ย ยอมความ ซึ่ง 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้กฎหมายนี้เกิดการบังคับใช้เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำจริงๆ
นางสาวเอ (นามสมมติ) กล่าวว่า ตนจดทะเบียนอยู่กินกับสามีชาวเยอรมัน กว่า 13 ปีที่เยอรมัน มีลูกด้วยกัน 1 คน จากนั้นย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เริ่มมีปากเสียง สามีทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้ง หลังจากสามีดื่มสุราจนเมา สามีมักทำความรุนแรงต่อหน้าลูกและบอกว่าตนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ครั้งหลังสุดคือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ตนถูกสามีที่กำลังมึนเมาทำร้ายจึงขอความช่วยเหลือจากตำรวจ และได้รับการช่วยเหลือให้ไปอยู่ที่ปลอดภัย แต่ยังถูกข่มขู่คุกคามทาง WhatsApp กระทั่งปี 2564 ตนจึงขอรับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ซึ่งศาลมีคำสั่ง 1. ห้ามสามีดื่มสุรา หากดื่มก็ห้ามเข้าที่พัก 2. ห้ามใช้กำลังกับตนและลูก 3. กำหนดระยะเวลา 6 เดือน (1 ก.ย.64-ก.พ.65) 4. หากไม่ทำตามให้จำเลยมาแถลงต่อศาลขอยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ล่าสุดปี 2565 ตนก็ยังถูกสามีทำร้ายร่างกายอยู่ดี ดังนั้นตอนนี้ตนจึงออกมาเช่าบ้านอยู่กับลูก 2 คน และยังต้องอยู่กับความหวาดกลัว เพราะสามีตามมาข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของตอนที่เขาเมา ตนเป็นเพียงหนึ่งในอีกจำนวนหลายๆคนที่ถูกกระทำและกำลังใช้กลไกของกฎหมายมาช่วยแก้ไขปัญหาโดยมีทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ชี้แนะ ทำให้เข้าใจและมองเห็นเส้นทางที่จะเดินต่อ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาแสนสาหัสและเชื่อว่ายังมีผู้หญิงหรือคู่รักอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับตน จึงต้องเร่งสื่อสารออกไปให้กว้างขวางว่าในประเทศของเรามีกลไกที่ช่วยเหลือสนับสนุน และองค์กรมูลนิธิที่ยินดียืนเคียงข้าง