วันนี้( 1 มี.ค.)นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตยานนาวา-บางคอแหลม พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ติดตามการรื้อถอนเครื่องจักรโรงปูน บริเวณปากซอยพระราม 3 ซอย 41 ที่ประชาชนเคยร้องเรียนมายังจรยุทธเมื่อปลายปี 2565 ให้ตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ซึ่งต่อมาจรยุทธได้ประสานไปยังสำนักงานเขตยานนาวาและกรมโรงงาน เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการขออนุญาต ก่อนที่โรงปูนดังกล่าวจะยุติการตั้งโรงปูนโดยสมัครใจในเวลาต่อมา
นายจรยุทธ ระบุว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบในวันนี้ พบว่าปัจจุบันมีการรื้อถอนเครื่องจักรออกไปหมดแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชาวยานนาวา-บางคอแหลม จะมีโรงงานอุตสาหกรรมกลางชุมชนน้อยไปอีกหนึ่งแห่ง เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวยานนาวา-บางคอแหลม มีปัญหากับโรงปูนจำนวนมากที่มาตั้งอยู่ในเขตนี้ ทั้งที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องและที่ไม่ได้ขออนุญาต เรียกได้ว่าโรงปูนหลายแห่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทั้งผู้อยู่อาศัยรอบด้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมานานมากแล้ว สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชนจากเสียงและมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5
นายจรยุทธกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการตั้งโรงงานหรือพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่ง แม้จะผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) มาได้ แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งบริษัทมักจะใช้วิธีการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในการปรับความสัมพันธ์กับชุมชน แต่บางบริษัทก็ไม่ได้สนใจที่จะเยียวยาผลกระทบอะไรทั้งนั้น
"ผมจึงเห็นว่าน่าจะเป็นการดีกว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกองทุน ที่รวบรวมส่วนหนึ่งของภาษีจากอุตสาหกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่รอบข้าง เพื่อนำมาใช้พัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สาธารณสุข การกีฬา หรือพัฒนาทักษะการทำงานหาเลี้ยงชีพ ให้กับผู้คนในชุมชนดังกล่าว ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อการบริหารกองทุนให้ได้ประโยชน์มากที่สุด"
นายจรยุทธ ยังกล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นความคิดของบิดาตนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่นำหลักการนี้ไปบังคับใช้กับโรงไฟฟ้า นำภาษีของโรงไฟฟ้าเพื่อมาพัฒนาพื้นที่โดยรอบที่ตั้งของโรงไฟฟ้า วันนี้ตนจึงอยากผลักดันเรื่องนี้ต่อจากสิ่งที่บิดาของตนได้เคยทำไว้ ผลักดันให้เป็นกฎหมายที่จะครอบคลุมทั้งโรงงานต่าง ๆ ที่ปล่อยมลภาวะ บ่อขยะที่ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองที่สร้างปัญหาทางด้านการจราจร โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น รวมทั้งโครงการที่เข้าข่ายต้องประเมิน EIA ด้วย
“ผมอยากผลักดันนโยบายนี้ให้บังคับใช้กับทุกธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถามว่ามันยากไหม ตอบได้เลยว่ามันคงท้าทายแน่นอน แต่ถ้าธุรกิจต่าง ๆ มองว่านี่คือ CSR ที่ตรงจุด เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมต่อชุมชนโดยตรง ไม่ใช่การหว่านเงินลงไป แต่ไม่ตรงเป้าหมาย ถ้าเอาทุกอย่างขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะ ผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่ชุมชนจริง ๆ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้” นายจรยุทธ กล่าว