เมื่อวันที่ (28 ก.พ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ถึงเวลาก้าวข้ามพลังงานฟอสซิล”
นำเสนอโดย รสนา โตสิตระกูล
มีคำกล่าวว่ายุคหินผ่านไปไม่ใช่เพราะหินหมด แต่เพราะโลกค้นพบเทคโนโลยี่ใหม่ที่ดีกว่า ดังที่มีการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี่ต่างๆอย่างสิ้นเชิงโดยฉับพลัน (dipruption) ในช่วงที่ผ่านมา
ทำไมต้องก้าวข้ามฟอสซิล
ยุคสมัยของพลังงานฟอสซิลโดยเฉพาะ ”น้ำมัน” ที่มีการค้นพบ และนำมาใช้เพียง 150 ปี ได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างมหาศาลจนกลายเป็นวิกฤตที่คุกคามถึงขั้นมนุษยชาติอาจสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ที่มีชีวิตในโลกนี้มา 200,000 ปีก็เป็นได้ 150ปีเป็นเสี้ยวเวลาสั้นๆของฟอสซิลแค่ 0.08% หรือถ้าเปรียบเทียบเวลา200,000ปี เท่ากับเวลา 1วัน 150ปีของยุคน้ำมัน คือ 3 วินาที แต่เป็น 3วินาทีที่สามารถทำให้เราสูญสิ้นเผ่าพันธ์ุได้เลยทีเดียว
ฟริตจ๊อป คาปร้า นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์คนสำคัญ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Turning Point (แปลเป็นไทยในชื่อ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ) เมื่อ 40ปีที่แล้วว่า “การเปลี่ยนเทคโนโลยี่หนักมาเป็นเทคโนโลยี่เบาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนยิ่งสำหรับวงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงาน รากลึกของวิกฤตการณ์พลังงานในปัจจุบันอยู่ที่แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่สูญเปล่า ซึ่งกลายเป็นลักษณะเด่นของสังคมเรา การแก้ปัญหาวิกฤติการณ์นี้ เราไม่ได้ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น หากต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในทางคุณค่า ทัศนคติและวิถีชีวิต การผลิตพลังงานของเราจำเป็นต้องเปลี่ยนจากทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป มาเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และเปลี่ยนจากเทคโนโลยี่หนักเป็นเทคโนโลยี่เบาเพื่อให้เกิดความสมดุลทางนิเวศวิทยา “
คาปร้าระบุชัดว่า เทคโนโลยี่หนักคือพลังงานจากนิวเคลียร์และจากแหล่งฟอสซิลทั้งหมด คือน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เป็นต้น ส่วนเทคโนโลยี่เบาคือพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
ยุคพลังงานฟอสซิลได้ก่อวิกฤตการณ์ที่คุกคามมนุษยชาติที่สำคัญๆอย่างน้อย 3 เรื่อง คือโลกร้อน , การสะสมทุนด้วยการผูกขาดซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และวิกฤตสุขภาพ เช่น กรณีฝุ่น PM 2.5
1)วิกฤตการณ์โลกร้อน (climate change) เป็นวิกฤตที่อาจทำให้มนุษย์ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ วิกฤตที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นก่อวิบัติภัยทางธรรมชาติมากมาย ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว ถึงแผ่นดินถล่ม เกิดอากาศร้อนจัด หนาวจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
2)วิกฤตการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมทุน การผูกขาด ทำให้เกิดปัญหารวยกระจุก จนกระจายทั่วโลก
รายงานของ Inequality Report 2022 ระบุว่า ในปี2564 คนรวยสุด 10% ครอบครองทรัพย์สิน76% ของทรัพย์สินทั้งหมด ส่วนคนจนสุด 50% ครอบครองทรัพย์สินเพียง 2%
สำหรับประเทศไทย จะเห็นได้ว่านายทุนไทยจำนวนหนึ่งก้าวกระโดดเป็นเศรษฐีหมื่นล้านจากธุรกิจพลังงานภายในเวลาไม่ถึง8 ปี และจากรายงานของ Credit Suisse ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่น Credit Suisse ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008-2018 (พ.ศ. 2551-2561)
3)วิกฤตด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ซึ่ง 50% มาจากไอเสียรถยนต์ และการเผา งานวิจัยระบุว่า PM 2.5 จากการเผาเชื้อเพลิง ถ่านหิน เบนซิน ก๊าซ ทำให้มีการเสียชีวิตทั่วโลก10.2 ล้านคนต่อปี และพบว่า ในไทย มีการเสียชีวิตปีละ 70,000คน ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากโควิด-19
ถึงเวลาก้าวข้ามยุคพลังงานฟอสซิล
โลกเราต้องการเทคโนโลยี่พลังงานเบาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์ ซึ่งเทคโนโลยี่พลังงานแสงอาทิตย์มาถึงแล้ว มีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยี่พลังงานแสงอาทิตย์มาถึงนานแล้ว แต่ประชาชนกลับไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี่พลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างทั่วถึง เพราะรัฐบาลและกลุ่มทุนฟอสซิลจับมือกันยืนบังแดดของประชาชนนั่นเอง
การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่เทคโนโลยี่พลังงานแสงอาทิตย์ต้องเป็นเจตจำนงทางการเมืองของพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งจากการผลักดันโดยประชาชน หรือจากความสำนึกรู้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่ มีความเปราะบางเช่นเดียวกับชีวิตของเรา “โลกไม่ใช่กำไรแต่โลกคือต้นทุนที่เราต้องร่วมกันรักษา และใช้อย่างประหยัดที่สุด”
พลังงานที่เราควรเปลี่ยนมาเริ่มต้นใช้อย่างจริงจังคือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานนิวเคลียร์นอกโลก ที่ไม่ทำร้ายโลก เป็นพลังงานชนิดเดียวกับที่ธรรมชาติใช้ แสงอาทิตย์คือประชาธิปไตยทางพลังงาน เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ถ้าหากมีเครื่องมือ
เวลานี้เครื่องมือพร้อมแล้ว ขาดแต่นโยบายทางการเมือง
ประชาชนต้องการนโยบายที่สนับสนุนประชาชนให้ติดตั้งโซล่ารูฟท็อปเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองหรือที่เรียกว่า Solar Prosumer โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (net metering) ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนอย่างเป็นจริง และพรรคการเมืองต้องพร้อมขจัดอุปสรรคข้ออ้างว่าทำไม่ได้ด้วยเหตุผลร้อยแปด มันจึงต้องเป็นเจตจำนงทางการเมืองทั้งต่อโลก และต่อประชาชน และเป้าหมายขั้นต่อไปคือรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเบาเข้าระบบ (feed-in tariff) ก่อนพลังงานจากฟอสซิลและนโยบายที่ใช้รถไฟฟ้าแทนรถใช้น้ำมัน ต้องเกิดขึ้นเพื่อลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 นโยบายเปลี่ยนรถเก่าที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกิน ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน เพราะสิทธิการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับการมีอาหาร มีน้ำสะอาดบริโภค
โซล่ารูฟท็อปจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามยุคพลังงานฟอสซิล และเป็นก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนการผูกขาดทางเศรษฐกิจของฟอสซิล เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยประชาธิปไตยทางพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยทางการเมือง ต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานรองรับประชาธิปไตยทางการเมืองด้วย ยิ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานปิรามิดที่ขยายกว้างเท่าไหร่ ประชาธิปไตยทางการเมืองอันเป็นโครงสร้างส่วนบนก็ยิ่งมีความมั่นคงขึ้นเท่านั้น
พลังงานแสงอาทิตย์สามารถตอบโจทย์วิกฤตการณ์ทั้ง3 ข้อ แก้โจทย์โลกร้อน แก้โจทย์การผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบสุขภาพประชาชน ยิ่งกว่านั้นการส่งเสริมการติดตั้งโซล่ารูฟท้อป จะเพิ่มการจ้างงานได้อีกด้วย
มหาตมะ คานธีเคยกล่าวว่า
“โลกไม่อาจรอดได้ด้วยการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) แต่โลกจะรอดได้ด้วย การผลิตโดยคนส่วนใหญ่ (Production by the Mass)”
เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างการผลิตขนาดใหญ่ กับการผลิตโดยคนส่วนใหญ่ ต้องไม่ให้การผลิตขนาดใหญ่ทำลายการผลิตโดยคนส่วนใหญ่
พลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์ก็สามารถถูกบิดเบือนไปสู่การผูกขาดได้เช่นกัน
พรรคการเมืองทั้งที่เป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านต้องดูแลไม่ให้มีการออกแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดพลังงานแสงอาทิตย์แบบการผลิตพลังงานจากฟอสซิล
และนี่คือคำตอบของการผลิตพลังงานในอนาคตที่จะช่วยให้ “การผลิตโดยคนส่วนใหญ่” สามารถอยู่รอดด้วยการมีงานทำพร้อมกับมีปัจจัยพื้นฐานสำหรับชีวิตอย่างเพียงพอ
จากภาพใหญ่ที่เป็นวิกฤตของสังคมมนุษย์ และเล็กลงมาสู่ข้อเสนอที่แก้วิกฤติของสังคมไทย ทั้งการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ประชาชนขอเรียกร้องต่อบรรดาพรรคการเมืองให้เปิดทางและสนับสนุนคนเล็กคนน้อยให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานโดยตั้งสมการใหม่ว่า การลดรายจ่าย เท่ากับการเพิ่มรายได้ และด้วยวิธีนี้ รัฐบาลไม่มีภาระต้องชดเชยใดๆ