โฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบก่อสร้าง โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,230 ลบ. เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง
วันนี้ (28 ก.พ.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้าง โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งพลังงานไฟฟ้าไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่า และ เกาะพะงัน) สนองตอบต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นและเสริมความมั่นคง ระบบไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้งนี้ กฟผ. จะใช้เงินรายได้ (Internal Cash Flow) เป็นลำดับแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่นๆ ร้อยละ 75 ซึ่งหากมีความต้องการใช้เงินกู้จะพิจารณากู้เงินในประเทศเป็นลำดับแรก
โครงการมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ขอบเขตงานก่อสร้าง เช่น ก่อสร้างสายเคเบิลใต้ทะเล 230 เควี (kV) ขนอม-เกาะสมุย จำนวน 2 วงจร รวมระยะทางประมาณ 52.5 กม. และติดตั้ง Fiber Optic-ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (kV) ขนอม พร้อมปรับปรุงอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้อง-ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่) พร้อมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 230/115 เควี (kV) ขนาด 300 MVA จำนวน 2 ชุด จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)
- ระยะเวลาดำเนินโครงการ : 7-8 ปี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณ มิถุนายน 2572
- วงเงินลงทุน : รวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 4,969.5 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 6,260.5 ลบ.
- แหล่งเงินทุน : เงินรายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่นๆ ร้อยละ 75
- ประโยชน์ : โครงการจะเพิ่มขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่าและเกาะพะงัน) ซึ่งระบบเดิมรองรับได้ถึงปี 2574 เท่านั้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าลดการเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ดังกล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าบนเกาะสมุยและเกาะข้างเคียง (เกาะพะงัน และเกาะเต่า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะต่างๆ ในอนาคต ซึ่งการดำเนินโครงการต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) โดยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) (ณ อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 5.51) อยู่ที่ 10,130.7 ล้านบาท จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.0025 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ โดยกระทรวงการคลัง ไม่มีความจำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจาก กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีศักยภาพและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีสัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี