"ประวิตร" ลงพื้นที่สตูล หนุน 10 โครงการพัฒนาชายแดนใต้ สั่งเร่งตั้งม.สตูล ดันเด็ก-สตรีมีส่วนร่วม พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวใต้
วันนี้ (27ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และคณะ ลงพื้นที่ จ.สตูล เพื่อประชุมหารือพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาเขตสตูล โดยก่อนการประชุมรองนายกรัฐมนตรี ได้พบปะเครือข่ายมวลชนจังหวัดสตูล ที่มารอต้อนรับและให้กำลังใจ ในการดำเนินงาน กว่า 2,500 คน ประกอบด้วย มวลชนสภาสันติสุขตำบล ในพื้นที่จังหวัดสตูล ผู้แทนเด็กและเยาวชน ผู้แทนสตรี สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังมีผู้แทนประมงที่ร่วมให้การต้อนรับและขอบคุณ รองนายกรัฐมนตรีในการผลักดันโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ
จากนั้นเวลา 10.30 น. พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุม กพต. สัญจร โดยมีการพิจารณาโครงการสำคัญ 10 โครงการ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนา 5 จชต. อาทิ เสนอพิจารณาโครงการก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการศาสนาอิสลาม จ.สตูล โดย ศอ.บต. เสนอให้ กพต. พิจารณารับในหลักการฯ สืบเนื่องจากอาคารสำนักงานเดิมมีอายุการใช้งานมามากกว่า 30 ปี และมีสภาพทรุดโทรม โดยการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ฯจะสามารถใช้บริหารกิจการทางศาสนา และให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก โดยขออนุมัติกรอบวงเงินก่อสร้าง 67 ล้านบาท
พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า อีกทั้งได้เสนอให้กพต. พิจารณา กรอบแนวทางการพัฒนายกระดับการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเสนอพิจารณา ให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการสอบบรรจุข้าราชการครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สนับสนุนให้ครูได้รับสิทธิการกู้ยืมเรียน และเสนอเพิ่มค่าตอบแทนให้กับครูสอนศาสนา จาก 2,000 บาท เป็น 2,500 บาท พร้อมเพิ่มค่าตอบแทนอื่นๆ ค่าบริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์ในการยกระดับการศึกษาในพื้นที่
นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังเสนอ กพต. พิจารณาให้ วันสารทเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการของจังหวัดชายแดนใต้ ให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ได้ประกอบศาสนกิจ ทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ตามข้อเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของประชาชน ที่ต้องการให้ทางราชการ กําหนดให้วันสารทเดือนสิบ เป็นวันหยุดราชการ รวมถึงยังเสนอพิจารณาหลักการขอรับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษให้กับผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นพิเศษ โดยเสนอให้ กพต. พิจารณา มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ศอ.บต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการสนับสนุนการจัดเงินสวัสดิการ (เบี้ยเสี่ยงภัย) สำหรับการปฏิบัติงานประจำในพื้นที่พิเศษ จชต. ให้กับผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 311 แห่ง
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า วันนี้ กพต.ได้เห็นชอบแผนการมีส่วนร่วมของเด็ก สตรีและกลุ่มเปราะบาง เป็นการเฉพาะแล้ว โดยกำลังเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมความเข้มแข็งการทำหน้าที่ร่วมกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาว จ.สตูลในทุกด้าน ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งจัดตั้ง มหาวิทยาลัยสตูลให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพประชาชน เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ จว.ภูเก็ต กระบี่ พังงา รวมทั้งพื้นที่ จชต. โดยเน้นการเรียนการสอนที่ตอบสนองการพัฒนาเชิงพื้นที่และการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ตรงความต้องการประชาชนและแผนพัฒนาพื้นที่
หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางต่อไป ต.ฉลุง อ.เมือง รวมพูดคุยและให้กำลังใจแก่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล ผู้นำศาสนา อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น คณะกรรมการมัสยิด จว.สตูล รวมทั้ง ครูและนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ตาดีกา สถาบันปอเนาะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารท้องถิ่น จ.สตูล โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นและจริงใจของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว การศึกษา ศาสนาและการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดย จ.สตูล ต้องดึงจุดเด่นและร่วมกันผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Riviera) ให้ได้ในระยะเวลา 5 ปี ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้.