รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด มีผลบังคับได้รับการรับรองแล้วรวม 76 แห่ง และยังเหลือการรับรองอีก 276 แห่ง
วันนี้ (21ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับ และต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากวันบังคับ(ภายใน 15 มิ.ย. 66) ซึ่งเมื่อรวมกับการอนุมัติครั้งนี้แล้วจะมีวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ มีผลบังคับได้รับการรับรองแล้วรวม 76 แห่ง และยังเหลือการรับรองอีก 276 แห่ง
ทั้งนี้ ก่อนเสนอต่อ ครม. วัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4)มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ 5)มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น คุณค่าและประโยชน์ของวัดคาทอลิก การอุปถัมภ์และทำนุบำรุงภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วได้ให้ความเห็นชอบและไม่ขัดข้องในหลักการในการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่า วัดทั้ง 33 แห่งไม่มีการตั้งบนที่ราชพัสดุ แต่หามีกรณีมิซซังได้เข้าไปใช้ที่ราชพัสดุจะต้องดำเนินการขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ หากมีการเข้าไปตั้งวัดในเขตพื้นที่ป่าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มีวัด 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่ตั้งในโรงเรียนในระบบสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยกระทรวงศึกษาไม่ขัดข้องต่อการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 9 แห่ง แต่การรับรองวัดต้องไม่กระทบต่อการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นจึง เห็นควรให้มีรั้วแสดงขอบเขตของวัดคาทอลิกและโรงเรียนออกจากกันอย่างชัดเจน และขนาดที่ดินของโรงเรียนที่เหลืออยู่จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง พร้อมให้โรงเรียนดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้งและการขอเปลี่ยนแปลงขนาดที่ดินที่ใช้ตั้งโรงเรียนต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิก ทั้ง 33 แห่ง ใน 18 จังหวัดที่ได้รับการรองมีดังนี้ 1)จันทบุรี 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(ท่าแฉลบ),วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(ท่าศาลา), วัดพระคริสตราชา(ปะตง), วัดนักบุญยอห์น อัครธรรมทูต(มะขาม)และวัดพระแม่พระถวายองค์(มูซู) 2)นครนายก 4 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดาพระศาสนจักร(นครนายก), วัดพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล(เตยใหญ่), วัดนักบุญเปาโล(บ้านนา), วัดนักบุญยอแซฟ(หนองรี)
3)ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดเซนต์แอนโทนี(แปดริ้ว), วัดแม่พระฟาติมา(บางวัว), วัดนักบุญอันนา(สระไม้แดง) 4)สระแก้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์(สระแก้ว) วัดนักบุญเบเนดิกต์(เขาฉกรรจ์), วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ(อรัญประเทศ)
5)กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์(คลองจั่น) และ วัดนักบุญยูดาอัครสาวก(ชินเขต) 6)ปราจีนบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน(แหลมโขด), วัดราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์(บ้านสร้าง) 7)เพชรบูรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดนักบุญยอแซฟ(ห้วยใหญ่), วัดอัครเทวดากาเบรียล(สันติสุข) 8)ราชบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระสายประคำ(หลักห้า), วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(โพธาราม)
8) ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมาร์โก(ปทุมธานี) 9)พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเทเรซา(หน้าโคก) 10)สุพรรบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก(ดอนตาล) 11)นครปฐม 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมัทธิว(ทุ่งลูกนก) 13)ชลบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระลูกประคำ(สัตหีบ) 14)ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(ปากน้ำ ระยอง) 15)ตราด 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตราด) 16)นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตาคลี) 17)ลพบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดมาแตร์ เดอี อัสซุมตา(ลำนารายณ์) 18)อุทัยธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปโตร(ท่าซุง)